ธปท.ระบุมาตรการล็อกดาวน์กระทบจีดีพี กรณีที่แย่ที่สุด ส่งผลต่อเศรษฐกิจหดตัวติดลบ 2% หวังวัคซีน มาตรการการเงินการคลังจะช่วยลดผลกระทบได้ ไม่กังวลหากรัฐกู้เงินเพิ่มทำให้เพดานหนี้สาธารณะเพิ่ม หากรัฐใช้จ่ายได้เร็ว ตรงจุดและที่สำคัญต้องมีวินัยทางการคลัง เตรียมมาตรการการเงิน-การคลังรองรับหากสถานการณ์ยืดเยื้อ และการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าที่คาด
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ทำการประเมินภาพให้หะวข้อเรื่อง “ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิด” หลังจากที่โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย และส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดยากมากขึ้น ประสิทธิภาพของวัคซีนที่เรามีสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ลดลง รวมทั้งจำนวนวัคซีนที่คาดว่าจะจัดหาได้ต่ำกว่าที่คาด และเป็นภาระกับระบบสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น
โดยหลังจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในรอบล่าสุดนั้น ธปท.ได้ประเมินภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งพบว่า ความเสียหายเกิดขึ้นรุนแรงทั้งในด้านกว้างและด้านลึก โดยในส่วนของความลึกของความเสียหายนั้น พบว่า ความเสียหายจากการระบาดในระลอกที่ 2 และ 3 ทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงไปใกล้เคียงกับความเสียหายในการล็อกดาวน์ครั้งแรกแล้ว แต่ที่น่ากังวลคือ กราฟยังปักหัวลงได้อีก ในขณะที่ด้านความกว้างของผลความเสียหายของมาตรการล็อกดาวน์ ถึงแม้ว่าในครั้งจะล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด แต่พบว่าในพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายลดลงในลักษณะเดียวกันกับในพื้นที่ล็อกดาวน์
“จากการสำรวจนักวิเคราะห์ ประชาชน และภาคธุรกิจ โดยภาคครัวเรือนมองว่า กว่าที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 65 ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ระยะเวลาที่ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติยังไม่แน่นอน แม้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะต่ำกว่า 500 ราย ในขณะที่ภาคธุรกิจยังมีความหวังที่จะกลับมาเปิดให้บริการเป็นปกติในไตรมาสแรกของปี 65 ขณะที่ประเมินจากสถานการณ์วัคซีนในขณะนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ที่เดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นในสิ้นปีนี้น่าจะล่าช้าออกไป และยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในปีหน้าได้หรือไม่” ผู้อำนวยการอาวุโสกล่าว
ธปท.ประเมินภาพความเสียหายจากการล็อกดาวน์ และความไม่แน่นอนที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สูงขึ้นในอนาคต โดยประเมินเป็น 3 กรณีคือ กรณีที่ดีที่สุด โดยคาดว่า หากมาตรการล็อกดาวน์สามารภดำเนินการได้ดี และส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงประมาณ 40% จากขณะนี้ และสามารถควบคุมได้ภายในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ โดยไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ เศรษฐกิจไทยจะได้รับความเสียหายจากการล็อกดาวน์ หรือส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลง -0.8% ขณะที่แย่ที่สุด คือ การระบาดยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสามารถควบคุมให้การระบาดลดลงเพียง 20% แต่ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในช่วงสิ้นปีนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 2% ในขณะที่ค่ากลางที่ ธปท.คาดว่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดในขณะนี้ คาดว่าการล็อกดาวน์จะกระทบเศรษฐกิจให้หดตัวลง 1.2%
ในขณะนี้ยังมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงมาก เพราะการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้า ทำให้สามารถกลับมาระบาดได้ใหม่ตลอดเวลา หากความเร็วในการจัดหา และกระจายวัคซีนไม่เร็วพอ หรือการ์ดตก ทำให้ ธปท.ไม่ได้ประเมินภาพในกรณีเลวร้ายในขณะนี้ เพราะสถานการณ์ยังสามารถพัฒนาไปได้อีก ซึ่ง ธปท.จะต้องจับตาต่อไป เนื่องจากมองว่าการแพร่ระบาดมีโอกาสยืดเยื้อ มาตรการทั้งการเงิน และการคลังอาจจะไม่เพียงพอที่จะรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายลงได้ ทำให้ประสานงาน และเตรียมความพร้อมทั้งมาตรการการเงิน และการคลังเพิ่มขึ้นให้มากที่สุด โดยจากการประเมินผลที่ผ่านมา มาตรการเยียวยาของด้านการคลังในปี 63 ได้ช่วยให้การใช้จ่ายในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 5% ในขณะที่มาตรการการเงินต้องเร่งกระจายสภาพคล่องที่มีไปถึงผู้ที่เดือดร้อนให้ตรงจุดกว่าที่เป็นอยู่ และ ธปท.เห็นด้วยหากรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เพิ่มขึ้น หากนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับประเด็นหนี้สาธารณะที่หลายฝ่ายเริ่มให้ความกังวลว่าอยู่ในระดับที่สูงจนเกินเพดานนั้น ธปท.มองว่า การรัฐใช้เงินไปในการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและตรงจุด ทำให้เกิดการใช้จ่ายที่เพื่มขึ้น รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดต้องใช้จ่ายอย่างมีวินัยทางการคลัง รัฐจะกูเงินเพิ่มยังสามารถทำได้ แต่ขณะนี้มาตรการการเงินการคลังที่ออกมาแล้วต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน