ธปท.เผยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ 3 ระยะ ปรับลดเพดานดอกเบี้ย ผ่อนปรนชำระหนี้ คลินิกแก้หนี้ มหกรมไกล่เกลี่ยหนี้ ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ 70-90% เตรียมมาตรการระยะยาวเพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจและอยู่รอดอย่างยั่งยืน ปีหน้าเล็งขยายความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้นอกเหนือการกำกับดูแลของ ธปท. สหกรณ์และหนี้เกษตรกร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีและรายย่อย ที่ธปท.ออกมาตรการดูแลตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงต้นปี 2463 เริ่มตั้งแต่มาตรการแบบปูพรม หรือช่วยเหลือในวงกว้าง ด้วยการปรับลดเพดานดอกเบี้ย และปรับมาเน้นช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยการผ่อนปรนการชำระหนี้ และลดหนี้ซึ่งมีมาตรการออกเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมถึงการเปิดช่องทางให้ลูกหนี้สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากขึ้น เช่น คลินิกแก้หนี้ และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้
โดยภาพรวม ตัวเลขล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2564 มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 4.9 ล้านราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้รายใหญ่ 2.06 พันราย วงเงิน 0.6 ล้านล้านบาท ลูกหนี้เอสเอ็มอี 0.5 ล้านราย วงเงิน 1.0 ล้านล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อยถึง 4.4 ล้านราย วงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท
ในลูกหนี้รายย่อยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลไม่มีหลักประกัน ประมาณ 8 แสนล้านบาท ลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย 6 แสนล้านบาท และลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อ 2 แสนล้านบาท
คลินิกแก้หนี้ สิ้นมิถุนายน 2564 ลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือ 1.9 หมื่นราย เฉลี่ยรายละ 3 บัญชี รวมทั้งหมด 6.05 บัญชี มหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อ 17,642 บัญชี เข้าเงื่อนไข 6,639 บัญชี อยู่ระหว่างดำเนินการ 9,585 บัญชี
มาตรการที่ ธปท. ดำเนินการส่วนใหญ่มีอัตราความสำเร็จ หรือแก้หนี้ประชาชนได้ค่อนข้างสูงหรือกว่า 70% เช่น คลิกนิกแก้หนี้มีอัตราความสำเร็จถึง 92% และมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้มีอัตราความสำเร็จ 76%
สำหรับมาตรการแก้หนี้ประชาชนในระยะต่อไป จะเน้นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน โดยสิ่งที่ธปท.วางแนวทางไว้คือ 1.เน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเครดิตต้องมีครบถ้วน ปัจจุบันแม้จะมีศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร แต่ยังขาดข้อมูลเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงินบางแห่งที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร และสถาบันการเงินที่ยังไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. เช่น สหกรณ์ ก็จะพยายามดึงเข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร เพื่อให้มีข้อมูลเครดิตครบถ้วนในการพิจารณาสินเชื่อ
2.ธปท.จะผลักดันให้เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินเน้นให้สินเชื่อที่มีความเป็นธรรม และต้องดูแลไม่ให้ลูกหนี้ก่อหนี้ หรือหนี้เกินตัว โดยการพิจารณาการให้สินเชื่อต้องเหมาะสมกับความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นสำคัญ
3.การให้ความรู้ทางการเงิน และให้คำแนะนำการบริหารจัดการหนี้ครบวงจร ซึ่งปัจจุบันดำเนินการอยู่แต่จะผลักดันให้มีบทบาทมากขึ้น
และ 4.ส่งเสริมช่องทางการกู้ยืมเงินที่เหมาะสม เช่น การกู้ยืมเงินผ่านออนไลน์ หรือผู้ให้บริการ Peer-to-peer lending platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมผู้ที่ต้องการเงินกับผู้ที่มีเงินเหลือให้มาเจอกัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของผู้กู้ต่ำลง
นอกจากนี้ ธปท.ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤตโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจ หรืออยู่รอดได้อย่างยั่งยืน โดยได้มีการประสานงานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อครอบคลุมลูกหนี้ที่ไม่ได้อยู่ในสถาบันการเงินที่ ธปท.ไม่ได้กำกับดูแลด้วย เช่น สหกรณ์ และลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีองค์ประกอบและปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่มถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ ต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ คาดว่าปีหน้าจะพอเห็นเป็นรูปร่างบ้าง