ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 6,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,262 ล้านบาท หรือคิดเป็น 105.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,094 ล้านบาท แต่มีกำไรสุทธิลดลง -566 ล้านบาท หรือคิดเป็น -8.17% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,923 ล้านบาท และกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 13,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,515 ล้านบาท คิดเป็น 23.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4.8% โดยหลักๆ จากผลของการรวมธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.12% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในครึ่งแรกของปีก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 18.8% จากค่าธรรมเนียมบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ จำนวน 2,420,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากสิ้นปี 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและสินเชื่อกิจการต่างประเทศ แม้ว่าอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ในระดับทรงตัวที่ร้อยละ 3.7 โดยธนาคารยังคงมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 190.3
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 3,046,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 จากสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้าต้องการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในภาวะที่มีความไม่แน่นอน ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 79.4 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.4 ร้อยละ 15.9 และร้อยละ 15.0 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
และในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนมาตรการของภาครัฐและเร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมดูแลลูกค้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าแต่ละราย ขณะเดียวกัน ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง