xs
xsm
sm
md
lg

มูลค่า “THG” พุ่งทะลุ 2.7 หมื่นล้านบาท รับข่าว “หมอบุญ” ปั้นดีลซื้อวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาหุ้น “ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” บวกรับต่อเนื่อง หลัง “นพ.บุญ วนาสิน” ออกมาให้ข่าวความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ขณะ ตลท.-ก.ล.ต. ออกโรงเบรก "หมอบุญ" หวั่นเป็นการปั่นราคาหุ้น ด้านโบรกเกอร์มองราคาหุ้นสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน ส่วนเมียและลูกไล่เก็บหุ้นเข้าพอร์ต

กลายเป็นประเด็นร้อนในยุคที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก และในเวลาที่ทุกคนต่างรอคอยวัคซีนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว แต่ด้วยข้อจำกัดที่การสั่งซื้อและนำเข้าต้องผ่านการอนุมัติจากทางการเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมการแพทย์ออกโรงเต้นเพราะความล่าช้าของรัฐบาล ดังนั้น จึงเกิดเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาท่ามกลางไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดหนักหลายระลอกไม่มีทีท่าว่าจะต้านได้

"นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ซึ่งคนในวงการมักจะเรียกกันง่ายๆ ว่า "หมอบุญ" ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องการบริหารจัดการหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยล่าช้า

ขณะเดียวกัน "หมอบุญ" ก็ออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับทาง THG สั่งซื้อวัคซีนป้องกันไวรัส-19 จากต่างประเทศเพื่อนำมาฉีดให้บริการแก่คนที่ต้องการ ซึ่งช่วงที่ผ่านมานั้น

"หมอบุญ "เผยความคืบหน้าการเจรจาจัดซื้อวัคซีนเรื่อยมา กระทั่งถึงกรณีที่วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดสไม่สามารถดีลกับบริษัทไฟเซอร์ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากไฟเซอร์ประเทศไทยมีสัญญากับรัฐบาลไทยแล้ว จึงต้องเลี่ยงมาเซ็นกับบริษัท BioNTech ของเยอรมนี ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นตัวยาที่เหมือนกัน ส่วนการขึ้นทะเบียนวัคซีน BioNTech กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว รวมถึงการเปิดให้จองรับบริการฉีดวัคซีนหลังจากที่กระบวนการต่างๆ แล้วเสร็จ และขายให้ในราคาเท่าทุนไม่ได้บวกกำไร คือ ไม่เกิน 1,300 บาท รวมถึงอีกหลายเงื่อนไขที่ออกข่าวความคืบหน้าเป็นระยะ และทุกครั้งที่มีข่าว ราคาหุ้น THG ขยับบวกทุกคราไปกลายเป็นกระแสแห่งนัยว่า "หมอบุญ" ต้องการปั่นราคาหุ้น และนั่นทำให้ผู้คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ บ้างก็อยากรู้จัก"หมอบุญ" ผู้ก่อตั้งและนั่งกุมบังเหียนโรงพยาบาลธนบุรีมากขึ้น

ตลท.-ก.ล.ต.เบรก "หมอบุญ" หวั่นปั่นราคาหุ้น

ทั้งนี้ จากความคืบหน้าการนำวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่ง "หมอบุญ" อ้างถึงการเปิดเจรจาซื้อขายวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส ของเครือ THG ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบร่างสัญญาที่ทางอเมริกาส่งมาให้ นั่นจึงทำให้ราคาหุ้น THG ขยับรับข่าวมาเป็นระยะ และนับจากวันที่ 28 มิถุนายน ราคาหุ้นบวกไป 0.25 บาท และวันดังกล่าวปิดที่ 27.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.93% ซึ่งนับจากวันดังกล่าว ราคาหุ้น THG ปรับเพิ่มขึ้นทุกวันทำการซื้อขายวันละ 0.25 บาท กระทั่งเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ราคาหุ้นพุ่งสูงสุดที่ 34.50 บาท เมื่อปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 31.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท หรือ 5.88% มูลค่าซื้อขาย 766.23 ล้านบาท ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาหุ้นปิดที่ 32 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 1.59% มูลค่าซื้อขาย 575.122 ล้านบาท

เนื่องจากราคาหุ้นปรับขึ้นต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ออกโรงให้ดำเนินการตรวจสอบดูแลการซื้อขายของหุ้น THG เพราะหวั่นว่าจะเกิดการซื้อขายในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และในวันถัดมา THG ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการนำเข้าวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ว่า ตามที่นักลงทุนจำนวนมากได้ให้ความสำคัญกับข่าวการเจรจานำเข้าวัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยี mRNA ของบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) โดยมีข่าวที่อาจก่อให้เกิดความสับสนเนื่องจากมีการสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตวัดชีนนั้น

"THG ได้ตกลงซื้อวัคซึนจริงโดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการด้านเอกสารกับตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ ในส่วนของระยะเวลาหากมีความชัดเจนแล้วจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งเนื่องจากยังต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง THG มุ่งหวังให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปโดยเร็วที่สุด โดย THG ได้ทุ่มเทกับการป้องกันและรักษาชีวิตของประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ" ทาง THG ชี้แจงต่อ ตลท.

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.สั่งห้ามไม่ให้ "หมอบุญ" ออกข่าวเพราะมองว่าจะนำไปสู่การปั่นหุ้น

เมีย “หมอบุญ” ไล่เก็บหุ้นเข้าพอร์ต

อย่างไรก็ดี จากรายการซื้อขายหุ้น THG พบว่า ราคาหุ้นที่ขยับเพิ่มขึ้นในทุกวันนั้น และระหว่างวันที่ 12-15 กรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้น 2.25 บาท หรือ 7.69% โดยปรับขึ้นสูงสุดที่ 34.50 บาท เพิ่มขึ้น 5.25 บาท หรือ 17.94% โดยเฉพาะวันที่ 15 กรกฎาคม หลังจาก "หมอบุญ" ออกมาให้ข่าวว่าจะลงนามสัญญาเพื่อนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 กับบริษัท ไบโอเอนเทค ที่มีโรงงานผลิตวัคซีนไฟเซอร์ในเยอรมนี จำนวน 20 ล้านโดส และคาดว่าจะขนส่งจากโรงงานในเยอรมนีมาถึงไทยภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จำนวน 5 ล้านโดส

ขณะที่ข้อมูลการซื้อขายหุ้นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.2564 แบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหาร (แบบ 59) ของ THG มีการซื้อหุ้นของ “นางจารุวรรณ วนาสิน”  ซึ่งเป็นคู่สมรสของนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ THG และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ THG รวมทั้งหมด 9 ครั้ง

โดยคิดเป็นจำนวนรวม 1,050,000 หุ้น มูลค่าที่ซื้อขาย 30,486,750 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อเมื่อ 25 มิ.ย.64 หนึ่งครั้ง จำนวน 100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 27.75 บาท ขณะที่วันที่ 9 ก.ค. ซื้อหุ้น 2 ครั้ง จำนวน 87,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 29.00 บาท และ 163,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 29.25 บาท วันที่ 12 ก.ค. ซื้อหุ้น 3 ครั้ง และวันที่ 13 ก.ค. ซื้อหุ้นอีก 3 ครั้ง

ขณะที่เมื่อเดือน เม.ย.ปีนี้ น.ส.นลิน วนาสิน กรรมการ THG ได้ขายหุ้น THG นอกตลาดหลักทรัพย์ 2 รายการ รวม 4,200,000 หุ้น แบ่งเป็นการขายครั้งแรก 1,400,000 หุ้น และครั้งที่ 2 อีก 2,800,000 หุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 23 บาท คิดเป็นเงินรวม 96.6 ล้านบาท ส่งผลให้จำนวนหุ้นที่เหลือหลังการขายครั้งนั้น 7,213,340 หุ้น

โบรกฯ มองราคาหุ้น THG สูงเกินปัจจัยพื้นฐาน

น.ส.ปิยะฉัตร รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า การนำเข้าวัคซีนของ THG น่าจะยังไม่ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันรัฐห้ามโรงพยาบาลเอกชนนำเข้าวัคซีนที่เป็นวัคซีนหลัก ซึ่งไฟเซอร์คือหนึ่งในวัคซีนหลัก และการนำเข้าวัคซีนทางเลือกต้องผ่านองค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้ หน่วยงานที่สามารถนำเข้าวัคซีนมีเพียง 5 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมโรค สถาบันจุฬาภรณ์ สภากาชาด สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัช

อย่างไรก็ตาม หาก THG นำเข้าวัคซีนได้จริง 20 ล้านโดสในปีนี้ เชื่อว่าบางส่วนจะมีการขายออกให้หน่วยงานอื่นในราคาทุน โดยไม่น่าจะขายแบบมีกำไร ภายใต้สมมติฐานการขายออก 10 ล้านโดส และเก็บไว้ฉีดเอง 10 ล้านโดส คาดมีกำไรขั้นต้นจากการฉีด 300 บาทต่อเข็ม ซึ่งจะสร้างกำไรหลังหักภาษีที่ 2,400 ล้านบาท คิดเป็น 2.8 บาทต่อหุ้น เทียบกับประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ของ บล.กสิกรไทยคาดไว้ที่ 445 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่แนะซื้อ ด้วยราคาปัจจุบันที่สูงกว่าราคาเป้าหมายที่ 28.60 บาท

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นซึ่งยังประเมินผลกระทบไม่ได้ชัดเจน ขณะที่ผลการดำเนินงานของ THG ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่หนักและฟื้นตัวช้า เมื่อเทียบกับกลุ่มโรงพยาบาลด้วยกัน และปัจจุบันด้วยราคาหุ้น THG ที่ปรับขึ้นมาสูงเกินมูลค่าเหมาะสมที่นักวิเคราะห์ให้ไว้ที่ 26.15 บาทต่ำกว่าราคาหุ้นในปัจจุบันพอสมควร แนะหากเข้าเก็งกำไร ควรระมัดระวัง

บล.ทิสโก้ จำกัด ประเมินว่า THG ยังมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากการฉีดวัคซีนในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจจะดีขึ้น เชื่อว่าสามารถกลับมาเป็นกำไร แต่การระบาดระลอกใหม่จะกระทบต่อการฟื้นตัวในอนาคต ซึ่งผลงานไตรมาส 2 ปีนี้จะเพิ่มขึ้นทั้งจากปีก่อน และจากไตรมาสก่อน จากผลขาดทุน 126 ล้านบาท และ 215 ล้านบาทใน 2563 และ 2564 ตามลำดับ ทำให้มีฐานที่ต่ำ แม้ไตรมาส 2 จะดีขึ้น แต่คาดว่าผลประกอบการจะยังคงขาดทุน โดยช่วงไตรมาส 2 ผลประกอบการที่ดีขึ้นจะมาจากการรับตรวจและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังโรงพยาบาลเปลี่ยนศูนย์ผู้ป่วยต่างชาติเป็นศูนย์โควิด-19 ทำให้รายได้ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 80 ล้านบาท เข้าใกล้ระดับคุ้มทุน และเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากเดือนเมษายน และยังมีการเปิด Hospitel อีก 2 แห่ง

ขณะที่ความชัดเจนของวัคซีน Moderna ผู้บริหารคาดว่าวัคซีนรอบแรกของ Moderna 4 ล้านโดสจะมาถึงในเดือนตุลาคม ประเมินว่า THG เช่นเดียวกับโรงพยาบาลอื่นๆ คือได้ประโยชน์จากการระบาดระลอก 3 ช่วงไตรมาสที่ 2 หนุนให้รายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน และจากปีก่อน จากการรักษาและตรวจโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจะกระทบการดำเนินงานในด้านอื่น เช่น Jin Wellbeing ที่ยังมียอดโอนที่ต่ำ และมีความเสี่ยงด้านดอกเบี้ยอยู่ที่ 90 ล้านบาทต่อปี และคิดเป็น 6% ของต้นทุนการพัฒนาโครงการ และการดำเนินงานของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง

เครือ รพ.ธนบุรี มูลค่าหลักทรัพย์ทะลุ 2.7 หมื่นล้านบาท

บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG โรงพยาบาลแห่งนี้ นพ.บุญ วนาสิน ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 ภายใต้ชื่อ “บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี จำกัด” และเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 7 ธ.ค.2560 ด้วยทุนจดทะเบียนวันนั้น 849.08 ล้านบาท ขณะที่วันนี้มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ 16 ก.ค.2564 คือ 27,170.56 ล้านบาท แรกเริ่มเดิมที THG โรงพยาบาลแห่งนี้เพื่อรองรับผู้ป่วยในย่านฝั่งธนบุรี ภายหลังจึงขยายงานออกไปหลากหลายกลายเป็นว่ามีธุรกิจต่อเนื่องอีกหลายแขนง ทำให้ปัจจุบัน THG มี 3 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ธุรกิจการบริหารผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจอื่นๆ แน่นอนว่า***ธุรกิจบริการทางการแพทย์ย่อมเป็นธุรกิจหลักเพราะมีโรงพยาบาลในเครือมากมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงดำเนินกิจการผ่านบริษัทในเครือ กิจการร่วมค้าและโรงพยาบาลที่รับจ้างบริหาร

สำหรับโรงพยาบาลในเครือ THG ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีทั้งหมด 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลธนบุรี โรงพยาบาลธนบุรี 2 โรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง โรงพยาบาลธนบุรีบูรณา ขณะที่ในต่างจังหวัดมีอีก 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลอุบลรักษ์ ธนบุรี จังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลสิริเวช จันทบุรี จังหวัดจันทบุรี และโรงพยาบาลธนบุรี ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ THG ยังขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศด้วยการร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น Ga Mone Pwint Company Limited (GMP) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงในประเทศพม่า โรงพยาบาลขนาด 200 เตียง มูลค่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานสากลโดยให้ชื่อว่า Ar Yu International Hospital เปิดให้บริการในปี 2562 ดังนั้น ส่งผลให้ปัจจุบัน THG มีโรงพยาบาลในเครือทั่วประเทศ มีจำนวนเตียงกว่า 1,100 เตียง อีกทั้งรองรับผู้ป่วยนอกกว่า 5,800 เตียงต่อคนต่อวัน

โดยธุรกิจการบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ ประกอบด้วย โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ธุรกิจดูแลและบ้านพักผู้สูงอายุ โครงการอยู่บนพื้นที่ 142 ไร่ ย่านรังสิต ด้วยงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท โรงพยาบาลธนบุรีบูรณา ขนาด 51 เตียง เป็นโรงพยาบาลที่เน้นรักษาพยาบาลเฉพาะทางผู้สูงอายุ และสถาบัน จิณณ์ เวลเนส เซ็นเตอร์ ศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงวัย โครงการ ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ประชาอุทิศ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุขนาดใหญ่ ย่านประชาอุทิศ รองรับสังคมผู้สูงอายุ ส่วนธุรกิจการบริหารผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ มีบริษัท ทันตสยาม จำกัด ธุรกิจจำหน่ายเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์

ผลงาน Q3 เติบโตเท่าตัว

สำหรับผลประกอบการของ THG นั้น "หมอบุญ" กล่าวถึงภาพรวมในไตรมาส 2 คาดว่าจะมีรายได้การให้บริการด้านการแพทย์ของเครือโรงพยาบาล THG เติบโต 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีรายได้รวม 1,580 ล้านบาท และจะเริ่มมีกำไรในไตรมาส 2 หลังไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 214.95 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1,584.14 ล้านบาท เพราะปี 2563 ลงทุนด้านเครื่องมือทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ยาต่างๆ ไปค่อนข้างมาก

ขณะที่ ไตรมาส 3 คาดจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ประเมินเบื้องต้นจะมีกำไรเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมาก ซึ่งจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานปี 2564 เติบโตเกินเป้าหมายเป็นเท่าตัวอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ เครือโรงพยาบาล THG มีรายได้จากบริการทางการแพทย์เกี่ยวกับ COVID-19 เข้ามาเสริมพอร์ตด้วย และในปัจจุบันทางเครือโรงพยาบาลบาลยังมีการให้บริการเตียงรองรับผู้ป่วย COVID-19 มากที่สุดในประเทศไทย แบ่งเป็นเตียงสีแดง รองรับผู้ป่วยอาการรุนแรง 150 เตียง ขณะที่เตียงสีเหลือง รองรับผู้ป่วยอาการปานกลาง 500 เตียง และเตียงสีเขียว รองรับผู้ป่วยไม่แสดงอาการ 2,500 เตียง ส่งผลดีต่อตัวเลขกำไรที่ตะสูงตาม

ล่าสุด คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) THGV ให้ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท ไทยเมดิคอลโกลฟ จำกัด หรือ TMG จากบริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด หรือ RAJ 1,333,333 หุ้น คิดเป็นเป็นมูลค่า 199,999,950 บาท หรือคิดเป็น 7.4% โดยใช้เงินกู้ธนาคารระยะยาวในการซื้อครั้งนี้ แต่การเข้าซื้อ TMG ที่ทำธุรกิจ ผลิต จำหน่าย นำเข้าและส่งออกถุงมือ ถุงมือยาง หรือถุงมือชนิดอื่นๆ ทางการแพทย์ครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทมีกรรมการ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นบุคคลเดียวกันคือ นพ.บุญ วนาสิน และ/หรือบุคคลที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มครอบครัววนาสิน

"การเข้าลงทุนในธุรกิจถุงมือยางที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 5 ปีนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกเพิ่มขึ้น หลังจากการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้ THG ได้ และการเข้าลงทุนใน TMG จะเป็นการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ช่วยสนับสนุนหรือต่อยอดธุรกิจโรงพยาบาลอันเป็นธุรกิจหลักของ THG ด้วย"

นอกจากนี้ "หมอบุญ" ยังเผยถึงเครือโรงพยาบาลได้ศึกษาแนวทางการออก Utility Token โดยศึกษาจากแพลตฟอร์มของ WeChat ควบคู่กับการเจรจากับพันธมิตรในกลุ่มอาเซียน รวมถึงเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล แอสเสท เป็นการปรับตัวเพื่อความยั่งยืนในอนาคตด้วย



นายแพทย์ บุญ วนาสิน


กำลังโหลดความคิดเห็น