3 หุ้นไอพีโอน้องใหม่ SNNP-STECH-AMR พาเหรดเข้าเทรดฝ่าวิกฤตโควิด-19 สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป 20 ก.ค.-23 ก.ค. และ 2 ส.ค.นี้ ด้วยราคา 9.20 2.78 และ 6.90 บาท ตามลำดับ SNNP มั่นใจรายย่อย-สถาบันจองซื้อหุ้นคึกคัก โชว์ศักยภาพมุ่งสู่ผู้นำตลาดในอาเซียน ดันยอดขายแตะ 8,000 ล้านบาทในปี 69 ส่วน STECH ล่าสุด ขายไอพีโอ 203.50 ล้านหุ้น หมดเกลี้ยง ชูศักยภาพธุรกิจคอนกรีตอัดแรงรายใหญ่ของอุตสาหกรรม เดินหน้าขยายกำลังการผลิตเตรียมรับดีมานด์ ขณะที่ AMR เชื่อไอพีโอหนุนฐานเงินทุนบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งขึ้น เพิ่มโอกาสการรับงาน และสร้างความเชื่อมั่นให้พันธมิตรและคู่ค้า
ตลาดไอพีโอยังคงคึกคักอย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวมการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะยังคงผันผวนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในขณะนี้ จนทำให้หลายสำนักเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศออกมาปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ หรือจีดีพีปีนี้ว่าจจะเติบโตไม่เกิน 1.5% และมีโอกาสติดลบ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหุ้นไอพีโอดูจะสวนทางอย่างสิ้นเชิง เพราะในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หุ้นไอพีโอหลายบริษัทกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้ง โดยเฉพาะราคาเปิดที่สามารถยืนเหนือราคาจองเมื่อเทียบกับภาวะตลาดรวม
โดยปลายเดือน ก.ค. ถึงต้นเดือน ส.ค.นี้ มีหุ้นไอพีโอ 3 ตัวที่ทยอยเข้าซื้อขาย ประกอบด้วย บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP) หนึ่งในบริษัทผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย เช่น เบนโตะ เข้าซื้อขายวันที่ 20 ก.ค.นี้เป็นวันแรก ด้วยราคาไอพีโอ 9.20 บาท ต่อด้วย บมจ.สยามเทคนิคคอนกรีต (STECH) บริษัทผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง สำหรับงานอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน เข้าเทรดวันที่ 23 ก.ค. ในราคาไอพีโอ 2.78 บาท และ บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) ที่ดำเนินธุรกิจด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชัน (System Integrator : SI) ซึ่งถือเป็นเทรนด์ธุรกิจในปัจจุบันนี้ ซื้อขายในวันที่ 2 ส.ค. ราคาขายไอพีโอหุ้นละ 6.90 บาท
SNNP พร้อมเทรด โชว์ศักยภาพมุ่งสู่ผู้นำตลาดในภูมิภาคอาเซียน
นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 20 ก.ค.64 หลังปิดการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย 9.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยที่เชื่อมั่นในพื้นฐานทางธุรกิจและศักยภาพการดำเนินงานในอนาคต โดยมีนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจเข้ามาจองซื้อเป็นจำนวนมากกว่า 17 เท่าของจำนวนหุ้นที่เสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน
ทั้งนี้ หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทฯ มุ่งสร้างการเติบโตเป็น 2 เท่า หรือมีรายได้ 8,000 ล้านบาทภายในปี 69 โดยสร้างรากฐานการผลิตและระบบจัดจำหน่ายสินค้าให้ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในแง่ของกำลังการผลิตและการบริหารจัดการต้นทุนโดยรวม รวมถึงขยายการจัดจำหน่ายสินค้าให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน ผ่านบริษัทย่อยทั้งในกัมพูชา และเวียดนาม
ปัจจุบัน โรงงานในกัมพูชาได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานในประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าโรงงานในส่วนที่ 1 จะแล้วเสร็จในปี 2565 และโรงงานทั้งหมดจะแล้วเสร็จช่วงสิ้นปี 2566 ส่งผลให้ SNNP มีฐานการผลิตครอบคลุมทั้งในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม รองรับกับแผนการส่งออกสู่ตลาดใหม่ๆ จากปัจจุบันที่ส่งออกไปยัง 5 ทวีป รวมกว่า 35 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ SNNP ยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชงและกัญชา รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอให้มีความหลากหลาย รวมถึงแผนต่อยอดแบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาด เช่น เจเล่ เบนโตะ โลตัสขาไก่ เมจิกฟาร์ม และเครื่องดื่มอควาวิตซ์ เป็นต้น โดยมุ่งพัฒนาทั้งรสชาติ ขนาดและราคาให้เหมาะกับความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ (Localization)
“เราพร้อมรุกขยายธุรกิจสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนให้ SNNP ก้าวสู่ผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ด้วยแผนงานที่ได้วางรากฐานทั้งการผลิตและระบบจัดจำหน่าย เพื่อขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียนและส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดใหม่ๆ ทั่วโลก และด้วยศักยภาพทางธุรกิจที่บริษัทฯ วางไว้อย่างแข็งแกร่งนี้ จะผลักดันให้ผลการดำเนินงานของ SNNP เติบโตอย่างยั่งยืน” นายวิวรรธน์ กล่าว
น.ส.วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า SNNP มีศักยภาพและพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยสนับสนุนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ด้วยข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันจากการมีแบรนด์พอร์ตโฟลิโอที่หลากหลายและตราสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค พร้อมกับมีทีมวิจัยและพัฒนาที่มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์สินค้าใหม่ที่หลากหลาย รวมถึงมีฐานการผลิตและระบบจัดจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยผลักดันให้ SNNP เติบโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวแห่งอาเซียนในอนาคต
STECH ขายไอพีโอเกลี้ยง 203.5 ล้านหุ้น พร้อมเทรด 23 ก.ค.นี้
นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมสายงานวาณิชธนกิจ ด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า การจองซื้อหุ้น IPO ของ STECH 203,500,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 2.78 บาท ระหว่างวันที่ 13-16 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจองซื้อเข้ามาเกินกว่าจำนวนที่จัดสรร สะท้อนความเชื่อมั่นธุรกิจ และแผนการเติบโตที่ชัดเจน
โดยเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 23 ก.ค.64 นี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจวัสดุก่อสร้าง
นายคมกฤต มีคำสัตย์ กรรมการผู้จัดการสายงานตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า STECH ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยมในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นหุ้นพื้นฐานดี มีโอกาสเติบโตระยะยาว ตามแผนการลงทุนในงานโครงสร้างพื้นฐานและงานสาธารณูปโภคของประเทศ จุดเด่น ด้วยชื่อเสียง และประสบการณ์ของผู้บริหารกว่า 35 ปี มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงาน 9 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่จะมีการลงทุน และเม็ดเงินที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต่อจากนี้ เป็นโอกาสให้ STECH ได้รับงานต่อเนื่อง โดยโครงการที่เป็นโอกาส ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา-หนองคาย และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นต้น
น.ส.จิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า STECH มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผลประกอบการอยู่ในระดับที่น่าสนใจจากกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีการขยายการเติบโตแบบ Growth Stock พร้อมนโยบายการจ่ายปันผลที่ดีในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา พิสูจน์ฝีมือการบริหารจัดการด้วยกำไรสุทธิในปี 63 อยู่ที่ 140.60 ล้านบาท เติบโตจากปี 2562 มากกว่า 50% และปีนี้มั่นใจงานโครงการในมือกระจายอยู่หลายภูมิภาค โรงงานยังเดินหน้าผลิต และเตรียมส่งมอบตามแผน สนับสนุนเป้าหมายการเติบโตของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามที่วางไว้ และในสิ้นปีนี้บริษัทฯ จะมีโรงงานเพิ่มเป็น 10 แห่ง ในปี 2567 จะมี 11 แห่ง รองรับความต้องการของลูกค้าในงานโปรเจกต์ภาครัฐที่จะทยอยเดินหน้าลงทุนตามแผน
ด้าน นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH กล่าวว่า ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่ให้ความสนใจจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ทำให้การเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ด้วยเป้าหมายการเข้ามาระดมทุนในครั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจคอนกรีตอัดแรง เงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวนประมาณ 550 ล้านบาท (หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ขยายธุรกิจเสาคอนกรีตอัดแรงประมาณ 298 ล้านบาท ตามโครงการที่วางไว้ นอกจากนี้ ใช้สำหรับโครงการพัฒนาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 10 ล้านบาท และใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจากสถาบันการเงิน 220 ล้านบาท รวมทั้งนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทฯ 22 ล้านบาท
AMR เคาะราคาไอพีโอ 6.90 บาท/หุ้น เทรด 2 ส.ค.
นายดิถดนัย สังขะรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMR) เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวน 150 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น ในราคาหุ้นละ 6.90 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 15.33 เท่า (Post-IPO Dilution) คำนวณจากผลประกอบการ 4 ไตรมาสย้อนหลังของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 63 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 64
ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ และมีส่วนลดให้นักลงทุน เปรียบเทียบ P/E กลุ่มไอซีทีที่ 25 เท่า และ P/E ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 20 กว่าเท่า ถือว่ามีส่วนลดให้นักลงทุนพอควร
โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคม 64 และคาดว่าสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ในวันที่ 2 สิงหาคม 64 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า "AMR" ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
การกำหนดราคาไอพีโอที่ระดับ 6.90 บาท/หุ้น เปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือว่าเป็นระดับราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน และ AMR ถือเป็นหุ้นที่น่าลงทุนเป็นอย่างมาก มีการเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง
อีกทั้งธุรกิจยังอยู่ในเมกะเทรนด์ จากการเดินหน้าขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์) ระบบคมนาคมขนส่งระบบราง การลงทุนเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี) ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ AMR ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการวางระบบเทคโนโลยีโซลูชันแบบครบวงจร และมีประสบการณ์รับงานเทิร์นคีย์ระบบเดินรถไฟฟ้าเจ้าแรกของเมืองไทย ทำให้มั่นใจว่า AMR มีพื้นฐานดีและจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนทั้งที่เป็นประเภทสถาบันและประชาชนทั่วไป
สัดส่วนการเสนอขายหุ้น แบ่งเป็นบุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 40.8% ผู้ลงทุนสถาบัน 34.7% ผู้มีอุปการคุณของบริษัท 12.7% กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท 11.9%
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ AMR โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (จำกัด) (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (AMR) กล่าวว่า การระดมทุนผ่านการขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้จะทำให้ฐานเงินทุนของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งขึ้น เพิ่มโอกาสการรับงานที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท และสร้างความเชื่อมั่นให้พันธมิตรและคู่ค้า โดยเตรียมนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจด้านคมนาคมขนส่ง ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) รวมถึงนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการให้บริการและต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ในอนาคตการดำเนินธุรกิจของ AMR มีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมากตามการขยายตัวด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ทั้งประเภทระบบเทคโนโลยีคมนาคมและการเดินรถไฟฟ้า พลังงานและระบบสื่อสาร โดยภาครัฐเตรียมเปิดประมูลงานใหม่มูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายเอาไว้ภายใน 3 ปี คาดว่าจะมีงานในมือเพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาท ส่วนในปัจจุบันมี Backlog ในมือแล้ว 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้
“หลังการเข้าระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตของ AMR ได้เป็นอย่างมาก เพราะเรากำลังพูดถึงเงินลงทุนของภาครัฐเป็นหลักล้านล้านบาท ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าในเมือง รวมไปถึงรถไฟในต่างจังหวัด โดย 20-30% หรือคิดเป็นมูลค่าลงทุนนับแสนล้านบาทเกี่ยวข้องกับการวางระบบ ทำให้เห็นโอกาสการเติบโตได้อีกมากในช่วงหลาย 10 ปี” นายมารุต กล่าว