xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ ชะลอลงทุนรับมือ “ภาวะสุญญากาศ” คาดเปิดโครงการใหม่ กทม.-ปริมณฑลติดลบต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายภัทรชัย ทวีวงศ์
"คอลลิเออร์สฯ" ห่วงมาตรการล็อกดาวน์อาจไม่มีผลเชิงบวกลดตัวผู้ติดเชื้อจากโควิด-19 ภาวะผู้นำประเทศที่เด็ดขาดมีความสำคัญ จับตาภาคเอกชนชะลอการลงทุน ปรับแผนธุรกิจใหม่ รับมือเกิด "ภาวะสุญญากาศ" ขึ้น คาดยอดเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ลดลง -25 ถึง -30% มูลค่าการเปิดโครงการอยู่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลในครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่ล็อกดาวน์อย่างเต็มที่ ไม่ล็อก 100% เพียงแค่ขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งเรามองมาตรการต่างๆ ที่ ศบค.ออกมาและที่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีผลเชิงบวกต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือแม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเรื่องการทำงานในที่บ้าน (WFH) นั้น เพียงยังขอความร่วมมือ WFH ทำงาน 100% แต่ในความเป็นจริงภาคเอกชนจะไม่ไหวแล้ว จะเห็นประมาณ 40% เดินทางไปทำงานอยู่

“ถ้ารัฐบาลยังไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะกล้าประกาศเด็ดขาด ห้ามเลย ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะไม่มีผลเชิงบวกที่จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง นายกฯ ควรแสดงความเป็นผู้นำอย่างจริงจัง ความเด็ดขาดหายไปไหน ซึ่งถ้าปล่อยปละละเลย จะยิ่งทำให้ประเทศเกิดสุญญากาศ ถ้ามองในมุมธุรกิจอสังหาฯ แล้วจะไปต่อไม่ได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทางการแพทย์ตัวเลขผู้ติดเชื้อเกินหมื่นรายอยู่แล้ว ผู้ประกอบการอสังหาฯ บางรายที่เคยประกาศต้นปีจะมีโครงการใหม่ แต่ขอรอดูสถานการณ์ ซึ่งรอมาครึ่งปีแล้วก็ไม่มีโครงการคอนโดฯ เปิดใหม่เลย สภาพแบบนี้ คือ สุญญากาศ จริงๆ ทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าตัดสินใจลงทุน หรือจะเดินตามแผนธุรกิจที่วางไว้ต่อหรือไม่ หรือเราควรจะทำอย่างไร ในภาวะแบบนี้” นายภัทรชัย กล่าว

คาดปี 64 มูลค่าเปิดโครงการใหม่ลดลง -20% ไม่ถึง 1 แสนล้านบาท

นายภัทรชัย กล่าวถึงแนวทางดำเนินธุรกิจอสังหาฯ หากในสถานการณ์ที่อาจเกิดภาวะ สุญญากาศ ว่า 1.ดีเวลลอปเปอร์ต้องเร่งยอดขายและยอดโอนที่อยู่อาศัยพร้อมโอน (LTM) ที่สามารถทำได้ทั้งในส่วนของโครงการคอนโดมิเนียมหรือโครงการแนวราบที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนให้ผู้ซื้อ

2.จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างเต็มที่ให้แก่ลูกค้า

3.ผู้ประกอบการเลือกเปิดโครงการที่มั่นใจจะสามารถสร้างผลสำเร็จของยอดขายโครงการที่เปิดใหม่ได้ หรือบางราย เมื่อสถานการณ์ดูแนวโน้มไม่มีปัจจัยบวกเข้ามา ก็ต้องเลื่อนเปิดโครงการไปปี 2565 แทน

สำหรับในปี 64 ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 63 เปิดตัวประมาณ 21,000 หน่วย แต่ในปี 64 คาดจะมีซัปพลายใหม่ออกสู่ตลาดประมาณ 15,000 หน่วย หรือลดลง -25 ถึง -30% ส่วนตลาดโครงการแนวราบคงมีการเติบโตเพิ่มหรือลบประมาณ 10% ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ เรื่องมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเด็ดขาด จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงได้ภายใน 1-3 เดือน ผู้ประกอบการไปเร่งเปิดโครงการในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะทำให้ตัวเลขโครงการใหม่แนวราบบวกได้ แต่ไม่เกิน 10% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ตลาดแนวราบไม่ได้ถูกกระทบมากนักจากสถานการณ์ของโควิด-19

และเมื่อพิจารณาภาพรวมและปัจจัยลบทั้งหมดแล้ว คาดเปิดตัวโครงการใหม่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลปีนี้จะลดลง -15% มูลค่าลดลง -20% หรือมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 63 มีมูลค่าการเปิดโครงการใหม่ประมาณ 1 แสนล้านบาทต้นๆ สุดท้ายแล้ว ต้องรอดูความเด็ดขาดของรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น