xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.ใช้ยุทธศาสตร์ "ขนมครก" นำร่องควบคุมโควิด-19 ในสมุทรปราการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเตรียมใช้ยุทธศาสตร์ “ขนมครก” นำร่องควบคุมโรคโควิด-19 พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ สุ่มตรวจพื้นที่ต่างๆ ในชุมชนเป็นจุดเล็กๆ และควบคุมโรคด้วยวัคซีน หลังพบสถานการณ์ติดเชื้อกระจายหลายคลัสเตอร์

วันนี้ (23 มิ.ย.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ประชุมหารือร่วมกับนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดใน จ.สมุทรปราการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากวันละ 100 กว่าราย เพิ่มเป็น 300-500 กว่าราย ภาพรวมมีการติดเชื้อทุกอำเภอ มีคลัสเตอร์เกิดขึ้นจำนวนมาก 41 คลัสเตอร์ ทั้งการติดเชื้อในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ตลาด ชุมชน คอนโดมิเนียม และแคมป์คนงานก่อสร้าง เนื่องจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์เล็ก ๆ ในการควบคุมการระบาดของโรค จึงเสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ “ขนมครก” โดยสุ่มตรวจพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชนที่มีการติดเชื้อ เมื่อพบผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่การรักษา และใช้วัคซีนฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่นั้น โดยกำหนดจำนวนให้เหมาะสมเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในพื้นที่เขตบางแค และคลองเตย กทม.

“เมื่อดำเนินการควบคุมโรคแบบขนมครกเป็นจุดเล็กๆ ในทุกพื้นที่ และกระจายมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะควบคุมโรคเป็นพื้นที่ใหญ่ได้ โดยจะนำร่องในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการควบคุมโรค เนื่องจากการควบคุมโรคจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยมาตรการทางสังคม ความมั่นคง และทางปกครองเข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่ด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

สำหรับการควบคุมโรคในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ใช้มาตรการ Bubble and Seal ในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีการติดเชื้อแล้ว ทำให้ไม่เสียแรงงาน และยังควบคุมโรคไม่ให้แพร่เชื้อสู่ชุมชนได้ รวมถึงการหารือทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงงานที่ยังไม่ติดเชื้อเพื่อใช้มาตรการนี้ด้วย จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 22 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 696 ราย เสียชีวิต 5 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 13,990 ราย เสียชีวิตสะสม 134 ราย คิดเป็น 0.9% อยู่ระหว่างการรักษา 3,255 ราย รักษาหายแล้ว 10,735 ราย ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนไทย 6,573 ราย เมียนมา 3,556 ราย กัมพูชา 1,308 ราย ลาว 84 ราย จีน 20 ราย อินเดีย 12 ราย และอื่นๆ 16 ราย




กำลังโหลดความคิดเห็น