xs
xsm
sm
md
lg

ส.อุตฯ ก่อสร้างไทยคาดปิดแคมป์คนงานเสียหายหมื่นล้าน หวั่นกระทบซัปพลายเชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมอุตฯ ก่อสร้างไทย พร้อมผู้ประกอบการก่อสร้างกว่า 35 บริษัท ถกด่วนกับรมว.แรงงาน หลัง ศบค.สั่งปิดแคมป์คนงาน สกัดคลัสเตอร์โควิด-19 คาดผลกระทบต่อภาพรวมอุตฯ ก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ห่วงลุกลามกระทบถึงซัปพลายเชน ขณะที่กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอ ศบค.อาจมีการประเมินสถานการณ์ทุก 15 วัน

ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้ 10 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด "สีแดงเข้ม" จากเดิมที่มีเพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยเพิ่มเติมจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยให้มีผลในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน โดยมาตรการตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น

ต่อกรณีดังกล่าว น.ส.ลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการรับมือกับการปิดแคมป์คนงานในเขตพื้นที่กรุงเทพมหารนครและปริมณฑล ว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ตนพร้อมด้วยคณะกรรมการบริหาร และกลุ่มสมาชิกผู้ประกอบการก่อสร้างกว่า 35 บริษัท ร่วมประชุมหารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีผลกระทบจากการประกาศปิดแคมป์คนงาน ซึ่งทางสมาคมฯ ได้เรียนชี้แจงอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีความสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจ คิดเป็น 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ มีการจ้างแรงงานกว่า 3 ล้านคน การประกาศมาตรการปิดแคมป์คนงานได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ได้เฉพาะงานก่อสร้างภาครัฐและเอกชนเท่านั้น แต่ยังลุกลามกระทบไปถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อื่นๆ เช่น ผู้ค้าวัสดุ และโรงงานการผลิตสินค้าด้วย

โดยคาดว่าจากผลกระทบดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งระบบประมาณ 10,000 ล้านบาท หากมีการปิดแคมป์งานนานกว่านั้น (มาตรการที่รัฐประกาศจะปิดแคมป์ 30 วัน) จะเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นจะต้องมีแนวทางและมาตรการการป้องกันและจัดการแคมป์ก่อสร้าง รวมถึงมาตรการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการที่ชัดเจน

"ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแคมป์คนงานอยู่ในพื้นที่กว่า 400 แห่ง บริษัทใหญ่ไม่น่าห่วง แต่บริษัทรายเล็กที่อยู่กระจายตามชุมชนน่าห่วงมาก หากภาครัฐไม่มีนโยบายที่ชัดเจน เชื่อว่าคนงานจะแตกกระจายหนีกลับบ้าน ยิ่งเป็นการเพิ่มการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งเราพบว่า มีแรงงานรายย่อยแบบเหมาค่าจ้างรายวันบางส่วนทยอยกลับต่างจังหวัด จากแรงงานใน กทม.ปัจจุบันที่มีกว่า 50,000 คน"

ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น ทางกระทรวงแรงงานจะเสนอให้มีการประเมินสถานการณ์ทุก 15 วัน รวมไปถึงจะมีการตรวจเชิงรุก และจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้กลุ่มแรงงานในแคมป์ก่อสร้างในช่วงหยุดงานด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของการเยียวยาแรงงานก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบนั้น แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และพนักงานในระบบประกันสังคม ม.33 จะมีการจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในระยะเวลา 15 เดือนที่ผ่านมา โดยภาครัฐจะจ่ายค่าชดเชย 50% กรณีต้องหยุดงานจากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างและหยุดก่อสร้าง ทั้งนี้ รายละเอียดการเบิกจ่ายค่าชดเชย ผู้ประกอบการจะต้องประสานงานกับประกันสังคมเขตพื้นที่โดยตรง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ยืนยันถึงความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานก่อสร้างอย่างเต็มที่

"มีประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ต้องกังวลอีก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั้งการขยายสัญญา และการลด งด คืนค่าปรับ รวมไปถึงปัญหาเหล็กเส้นขึ้นราคา ที่ทางสมาคมฯ ได้เสนอภาครัฐ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้นำเรียนผ่านท่านรัฐมนตรีไปยังท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อขอมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนแล้ว"


กำลังโหลดความคิดเห็น