เมืองไทย 360 องศา
พิจารณาตามรูปการณ์แล้ว โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะอยู่กับคนไทยและคนทั้งโลกไปอีกนาน หรือตลอดไปก็ได้ เป็นเพราะ “เชื้อไวรัส” ที่มันตายยาก แต่จะ “กลายพันธุ์” แตกแขนงออกไปเรื่อยๆ จนยากที่จะพัฒนาวัคซีนตามทัน เหมือนกับเวลานี้ ทั้งโลกเริ่มมีปัญหาการระบาดของเชื้อ “เดลตา” หรือสายพันธุ์จากอินเดีย
โดยประเทศไทยกำลังระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และเสี่ยงที่จะลามไปถึงภาคอีสาน ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งตามข่าวล่าสุด มีบางจังหวัดมีรายงานเบื้องต้นการติดเชื้อบ้างแล้ว โดยเฉพาะที่จังหวัดเลย
ขณะเดียวกัน ความหวังแรกของเราในตอนนี้ก็คือ “วัคซีน” ที่ต้องเร่งระดมฉีดให้ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 หรือราว 50 ล้านคน เพื่อให้เกิด “ภูมิต้านทานหมู่” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ “เดิมพัน” ตั้งเป้าหมายเอาไว้ภายใน 120 วัน โดยไปผูกเอาไว้กับ “ความเสี่ยง” ในการเปิดประเทศ เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้กลับมาอีกครั้ง
มีการกำหนดเป้าหมายเปิดประเทศแบบ “ทดลอง” ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นแห่งแรก ในวันที่ 1 กรกฎาคม หากได้ผลก็จะตามมาด้วย เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ในราวกลางเดือนเดียวกัน แน่นอนว่านี่คือ การเปิดรับ “นักท่องเที่ยว” ต่างชาติ ที่ถือเป็นรายได้หลักควบคู่กับการส่งออก โดยทุกฝ่ายกำลังลุ้นกันอย่างหนักว่าจะทำได้ตามกำหนดหรือไม่
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ล่าสุด พบว่า การระบาดมีแนวโน้มทั่วประเทศยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ๆ ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลัก เช่น กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล เชียงใหม่ เชียงราย และตาก เป็นต้น ทำให้เกิดความกังวลว่าหากยังเป็นแบบนี้มันจะยิ่งลำบาก มองไม่เห็นอนาคต จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการ “ล็อกดาวน์” พื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งระบาดใหญ่เป็นเวลา 7 วันเป็นอย่างน้อย เพื่อเป็นการควบคุม หรือชะลอการระบาดออกไป
ล่าสุด อย่างที่รู้กันก็คือ มีการเผยแพร่โดยมีการออกประกาศ เมื่อเวลาราว 01.00 น.ของวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยจะมีการล็อกดาวน์แคมป์คนงานใน 10 จังหวัด และห้ามรับประทานอาหารในร้านอาหารใน 6 จังหวัด
โดย เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้ 10 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด “สีแดงเข้ม” จากเดิมที่มีเพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ โดยเพิ่มเติม จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยให้มีผลในวันที่ 28 มิถุนายนนี้
แน่นอนว่า นี่คือการ “ควบคุมสูงสุด” เฉพาะกลุ่ม ที่เป็นแห่งระบาด หรือคาดว่า จะเป็นแหล่งระบาดมาก่อน คราวนี้เป็นการโฟกัสไปที่ “แคมป์คนงาน” ที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน และคราวนี้ก็มีการ “สั่งหยุดการก่อสร้าง” ควบคู่ไปกับการขอความร่วมมือให้งดเว้นการเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งหากมองในสภาพที่เห็นคำสั่งที่ว่านี้ แม้ว่าจะ “เข้มข้น” กว่าเดิม แต่ก็ยังถือว่ายังไม่เท่าครั้งแรก ที่ถึงขั้นประกาศ “เคอร์ฟิว” ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ
ขณะเดียวกัน จากความเข้มที่ว่านั้นมันก็ทำให้เศรษฐกิจ “พังพินาศ” ทำให้คราวนี้จึงพยายามเลี่ยงให้มากที่สุด และที่สำคัญ คงคาดหมายว่าแม้จะล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ก็คงไม่หยุดการแพร่ระบาดได้อย่างถาวร เหมือนกับบทเรียนจากหลายประเทศที่แม้จะชะลอลงได้ แต่ในที่สุดเมื่อผ่อนคลายมาตรการก็จะกลับมาระบาดอีกรอบ แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจเสียหายหนัก
อย่างไรก็ดี จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ทำให้มองเห็นว่า “วัคซีน” เท่านั้นที่เป็นความหวัง แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็น “บทเรียน” จากหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในวงกว้างได้แล้ว และเชื่อมั่นมากเกินไป โดยมีการลดมาตรการควบคุมลงมา เช่น การยกเลิกการ “สวมหน้ากากอนามัย” ผลก็คือกลับมามีการระบาดเพิ่มสูงขึ้น จนต้องกลับมาทบทวนคำสั่งใหม่อีกครั้ง แม้ว่าผลจากการฉีดวัคซีนจะทำให้ยอดผู้เสียชีวิตลดลงมาก หรือ ผู้ป่วยอาการหนักจะน้อยก็ตาม
หากพิจารณาจากข้อมูลและตัวเลขที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ ทำให้มองเห็นแล้วว่า “วัคซีน” เป็น “ความหวัง” และเป็น “ทางรอด” ที่ต้องมีการระดมฉีดให้ได้ตามเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ นั่นคือ ต้อทำให้ได้ภายใน 120 วัน ขณะเดียวกัน จากบทเรียนในหลายประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วยังมียอดติดเชื้อสูง
ดังนั้น หากต้องการให้รอดก็ต้อง “การ์ดไม่ตก” นั่นคือ หลังจากได้รับวัคซีน (อาจจะถึงเข็มที่ 3) แล้ว ก็ต้องคงมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มข้นต่อไป ทั้งการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ เพราะถ้าไม่เข้มแบบนั้น ก็ไม่มีทางเอาอยู่แน่นอน !!