xs
xsm
sm
md
lg

ปิดแคมป์คนงาน ลูกค้าลังเลโอนบ้าน-คอนโด กระทบ 'แคชโฟลว์' อสังหาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาคอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งในเซกเตอร์ที่สำคัญเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำต่อเนื่องถึงปลายน้ำ และยังมีส่วนสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตในการให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดโควิด-19 มีมากขึ้น และกระจายไปสู่ทุกภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างสร้างความเสียหาย สร้างบาดแผลต่อภาคเศรษฐกิจ จน "บั่นทอน" การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะข้างหน้า

ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้ 10 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด "สีแดงเข้ม" จากเดิมที่มีเพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ โดยเพิ่มเติมจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยให้มีผลในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน โดยมาตรการตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในมาตรการที่เข้มข้น คือ การปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราว สําหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง รวมท้ังให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน เนื่องจากตามข้อมูลพบว่า ภาคก่อสร้างเป็น 1 ใน 3 คลัสเตอร์ใหม่ที่ควรระวัง (ในพื้นที่กรุงเทพฯ) รองจากตลาดสด และโรงงานอุตสาหกรรม


ขณะที่ตามข้อมูลของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีจำนวนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด (ข้อมูลเดือน พ.ย.63) 589,419 คน อันดับ 2 จังหวัดสมุทรสาคร 239,752 คน อันดับ 3 สมุทรปราการ 161,745 คน อันดับ 4 ชลบุรี 158,578 คน อันดับ 5 ปทุมธานี 134,389 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค และศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ระบุตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ป่้วยโควิด-19 พบว่า (ณ วันที่ 19 พ.ค.64) มี 3 สัญชาติ สะสมทั้งหมดรวม 20,825 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า 19,055 คน ขณะที่ผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ สะสมระลอก 3 (ตั้งแต่ 1 เม.ย.-19 พ.ค.64) ทั้งหมด 4,725 คน พม่า มากถึง 3,864 คน กัมพูชา 680 คน และลาว 837 คน

ขณะที่คำสั่งล็อกดาวน์โดยมีการปิดแคมป์คนงานนั้น ในด้านของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในประเทศไทยค่อนข้างสับสนและวิตกต่อมาตรการของรัฐบาลเป็นอย่างมาก

"สิ่งที่เราพบเมื่อปิดแคมป์คนงาน เชื่อได้เลย คนงานก็ไม่อยู่ ยิ่งอยู่ก็ยิ่งเสี่ยง ถ้าให้อยู่ในแคมป์ไม่ต้องออกไปไหน โอกาสติดเชื้อจะสูงกว่า ซึ่งเราไม่รู้ว่าใครให้คำปรึกษานายกฯ ในเรื่องนี้" แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าว



ปิดแคมป์-หวั่นลูกค้าลังเลโอนบ้าน กระทบ "แคสโฟลว์" อสังหาฯ

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า มาตรการที่ออกมามี effect หนัก เริ่มมีหลายคนโทร.มาสอบถามอย่างต่อเนื่องจะทำอย่างไร เพราะกระแสเงินสดจะติดหมดเลย ผู้รับเหมาที่ทำในแคมป์มีหลากหลาย ไม่ใช่แค่อิฐ หิน ปูน ทราย แต่มีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการเตรียมพร้อมรอโอนที่อยู่อาศัยให้ลูกค้า แต่แทนที่โครงการจะโอนได้ต้องมีปัญหา ก็อาจจะคว่ำได้

"แคสโฟลว์ จะเป็นเรื่องใหญ่ หากผู้ประกอบการโอนไม่ได้ เป้าโอนกรรมสิทธิ์หลุด ยิ่งในภาวะแบบนี้ลูกค้าไม่อยากจะโอนอยู่แล้ว และอาจจะขอเรื่องคืนเงินดาวน์หรือเงินจองคืน ซึ่้งผู้ประกอบการมีวิธีการบริหารเงินเหล่านี้ที่ได้รับจากลูกค้าไปดำเนินการพัฒนาโครงการแล้ว ซึ่งหากเกิดอาการลูกค้าลังเลในการโอนแล้ว แล้วรายได้ที่ไหนจะเข้า ซึ่งปัจจุบันโครงการจะเก็บเงินดาวน์ลูกค้าประมาณร้อยละ 10-20 อีกร้อยละ 80 ที่ผู้ประกอบการกู้มาจากสถาบันการเงิน จะจ่ายหนี้ธนาคารอย่างไร ของใหม่คือโครงการใหม่ ไม่ต้องคุยเลย เจ้าหนี้ไม่ให้กู้แน่นอน ต้องเข้าใจ อสังหาฯ เดินด้วยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน"

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
รับมือแรงงานขาดแคลนระลอกใหม่

ในประเด็นเรื่องความเสียหายจากการปิดแคมป์คนงานนั้นประเมินไม่ได้ เราไม่ทราบว่า จำนวนของคนงานที่ย้ายออกจากแคมป์มีมากแค่ไหน และเดินทางไปไหน ซึ่งเรากังวลจะมีการยกระดับยอดติดเชื้อและความเสียหาย และหากโชคร้าย ถ้ากระจายออกไปเป็นสายพันธุ์อินเดีย จะเกิดอะไรขึ้น และสิ่งที่ต้องรับมือหลังจบ 30 วันแล้ว เรื่องแรงงานอาจจะกลายเป็นปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลนอีก

"แรงงานที่ไม่ถูกต้องถ้ากลับมา ถามว่าเราจะกล้ารับเข้าทำงานต่อหรือไม่ ก็ไม่รู้ไปติดเชื้อมาจากที่ไหน ต้องคัดกรองเพิ่มขึ้น รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจและยอมรับปัญหาเรื่องแรงงานเถื่อนที่อยู่ในไซต์งานก่อสร้างเกือบทุกแคมป์ แต่ถ้าเราประเมินว่า แรงงานเถื่อนมีไม่กี่แห่ง ตรงนี้ไม่ต้องไปประเมิน เพราะข้อมูลก็ผิดแล้ว"

จับตาแบงก์ห่วงโควิด-19 รุนแรงหนัก เข้มปล่อยกู้หนัก!

นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ว่า ปีนี้คงไม่เห็นการเติบโต หรือบวกเพิ่ม เนื่องจากต้นทุนในการก่อสร้าง เหล็กขึ้นราคา ทองแดงที่้ปรับสูงขึ้น ทำให้สายไฟแพงขึ้น และอื่นๆ ก็มีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ หากบริษัทอสังหาฯ ไม่แม่นยำในการคำนวณต้นทุน ก็ลำบาก และหากจะบวกเพิ่มเข้าไปในราคาขายในภาวะตอนนี้ "ลดราคาเกือบตายยังขายไม่ได้เลย"

"เราก็มีความเป็นห่วงเรื่องสินเชื่อรายย่อย หากสถาบันการเงินกังวลจะเกิดระดับการแพร่เชื้อที่สูงขึ้น เศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัว แบงก์จะรัดเข็มขัดคนซื้อที่อยู่อาศัยหนักกว่าเดิมขึ้นไปอีก"

นพ.เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล
"แสงฟ้าก่อสร้าง" กับคำถาม "ปิดแคมป์คนงาน"

นพ.เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด หนึ่งในผู้นำที่มีโครงการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตอนนี้ยังสับสนในวิธีการรับมือเรื่องการปิดแคมป์คนงานอยู่ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในแนวปฏิบัติเท่าที่ควร ตอนนี้คำสั่งที่ออกมายังมีความสงสัยอยู่ ได้แก่ 1.เมื่อครบ 30 วันตามที่รัฐบาลประกาศแล้ว คนงานจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

2.วัตถุประสงค์ของการปิดแคมป์คนงาน 30 วันเพื่ออะไร ปิดเพื่อให้คนงานจะได้รับวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันทุกคน หรือปิดเพื่อให้คนงานติดเชื้อกันเองโดยธรรมชาติเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

3.เมื่อครบ 30 วันแล้วจะเปิดอย่างไร ซึ่งเราจะต้องมาเดาต่อหรือไม่ว่า คนงานในแคมป์ยังต้องเป็นบุคคลต้องสงสัยอยู่หรือไม่

4.คำแนะนำจากผู้สั่งที่ให้ปิด จะให้ปฏิบัติตัวอย่างไร จะต้องให้คนงานทุกคนอยู่ในห้องหรือไม่ ซึ่งจะมีสภาพเหมือน "คนถูกขังคุก" จะให้ปฏิบัติตัวเช่นนี้หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บริษัทแสงฟ้าก่อสร้างใช้มาตรการดังกล่าวในการดูแลและป้องกันเรื่องโอกาสจะเกิดการติดเชื้อในกลุ่มคนงานก่อสร้าง หรือแม้แต่เวลาคนงานเดินทางไปที่พื้นที่โครงการ กระบวนการทำงานจะเดินไปตามจุดต่างๆ แต่จะเป็นการทำงานที่มีมาตรการควบคุมแบบบับเบิล แอนด์ ซีลอยู่แล้ว ตรงนี้คนงานยังจะรู้สึกผ่อนคลายและเมื่อกลับถึงแคมป์แล้ว ก็ต้องอยู่อาศัยในห้อง ตรงนี้คนงานต่างๆ เข้าใจกันดี

"แต่ถ้าในบรรยากาศแบบ 30 วัน จะให้ทุกคนอยู่ในห้องพักอย่างเดียว ไม่ออกไปเลย เอาอาหารมาเสิร์ฟ มันก็คล้ายๆ ติดคุก 1 เดือนอยู่ดี ผมก็คิดไปถึงสุขภาพจิต การบริหารคนงานในแคมป์ 300-400 คน ทุกคนเหมือนติดคุกและมีความเครียดค่อนข้างสูง ตรงนี้ต้องทำอะไรต่อ ตอนนี้เรา ควบคุมไม่ให้มีคนงานออกภายนอกได้ แต่ภายในแคมป์จะให้คนงานวางตัวอย่างไร หรือถ้าคนงานที่ดูแลตัวเองดี ไม่ติดเชื้อ แต่เมื่อครบ 30 วัน ออกมาทำงานข้างนอก ก็มีโอกาสกลับมาติดเชื้ออีก บรรยากาศจะวนไปอย่างนี้อีก"

นพ.เชิดศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นการฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าวว่า ต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ที่มีประกันสังคม และไม่มีประกัน ซึ่งกลุ่มมีประกันส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้างโดยตรงของบริษัท ตรงนี้บริษัทแสงฟ้าทำประกันสังคมให้ลูกจ้างอยู่แล้ว กลุ่มนี้จะมีสิทธิได้รับการฉีด แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งผมอยากเรียกร้องให้คนเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีน ในฐานะที่เป็นคนทำงานไม่อยากมาหยุดบ่อยๆ ต้องมาปิดแคมป์ ปิดการก่อสร้าง หรือกักตัว 14 วันกันบ่อยๆ

"เรารู้ว่าคนงานเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง เราไม่อยากเป็นตัวปัญหาของสังคม เป็นกลุ่มจะเกิดคลัสเตอร์ที่จะเอาเชื้อไปติดคนอื่น ทางเราพยายามป้องกัน คนงานของเราทำบับเบิล แอนด์ ซีล เต็มกำลัง ไม่ให้ปรากฏให้มีคนงานของเราออกนอกแคมป์ หรือนอกพื้นที่ก่อสร้างโดยเด็ดขาด เราคิดอยู่เสมอ แต่สิ่งที่เราอยากรู้ เมื่อวัคซีนไม่ได้ อะไรคือช็อตต่อไป ผมยังมีความเครียดส่วนหนึ่งที่เยอะๆ อยู่ คือ การที่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เมื่อยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ตกลงจะจบอย่างไร" นพ.เชิดศักดิ์ กล่าวและว่า

"ตอนนี้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ โทรศัพท์กันจ้าละหวั่น ซัปพลายเออร์ หรือแม้แต่บริษัทผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ต่อไปก็คิดกันไม่ออก ซึ่งในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งผู้รับเหมาและบริษัทอสังหาฯ พยายามแก้ไขปัญหาร่วมกัน คำถามคือ 30 วันแล้วจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขและทางกรุงเทพมหานครได้ออกเรื่องเกณฑ์บับเบิล แอนด์ ซีล มา ทำให้สามารถปฎิบัติได้ และเป็นนโยบายที่มีคำอธิบายในเชิงเหตุผล มีวิธีป้องกันอย่างชัดเจนในการปฏิบัติ"

ศุภาลัยรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจน

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลายฝ่ายพยายามให้ความร่วมมือ ซึ่งมีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ พบบางแห่งไม่พบผู้ติดเชื้อเลย ซึ่งประเด็นที่เราอยากรู้ คือ รายละเอียด ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนที่มากกว่านี้ในเรื่องมาตรการควบคุม แต่โดยรวมแล้วยอมรับว่าธุรกิจก่อสร้างกระทบมาก มีผลต่อคนหลายกลุ่ม ซัปพลายเออร์ หรือแม้แต่ผู้เข้ามาติดต่อในพื้นที่ก่อสร้างก็มีปัญหาเช่นกัน

"เราต้องมาดูว่าผลโดนแค่ไหน กระทบแค่ไหน การกระทบอย่างที่จะเป็นจนถึงขนาดจะต้องปรับกลยุทธ์นั้นก็ยังไม่ชัดเจน"


กำลังโหลดความคิดเห็น