xs
xsm
sm
md
lg

ราคาหุ้น TPIPP เมินข่าวดี รับงานใหม่หนุนผลบวกระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาหุ้น “ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์”ยังอ้อยอิ่งที่ 4 บาทต้น ๆ เมินรับผลประกอบการไตรมาสแรกสวย อีกทั้งยังได้งานโรงไฟฟ้าขยะทั้งโคราชและสงขลา รวมถึงโครงการยักษ์ “เมืองต้นแบบที่จะนะ” ล่าสุดเพิ่งถูกเลือกเข้ากลุ่มหลักทรัพย์ยั่งยืน ESG100 หากไม่อาจกระตุ้นให้ราคาหุ้นขยับเหนือ 5 บาทได้ โบรกฯมองอนาคต TPIPP สดใส ให้ซื้อด้วยราคาเป้าหมาย 5 บาท เชื่องานใหม่ที่ได้มาดันผลงานพุ่งยาว พร้อมออกหุ้นกู้ใช้ขยายงานและรีไฟแนนซ์หนี้ ส่วนปีนี้ยันรายได้ทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาท

เมื่อแนวทางการดำเนินธุรกิจคือสิ่งสำคัญหนึ่งในการนำพาบริษัทให้ก้าวฝ่าทุกวิกฤต รวมถึงภาพธุรกิจที่ลงทุนไป จะส่งผลต่อผลประกอบการ อีกทั้งการเลือกธุรกิจให้ตรงกับเทรนและความต้องการของตลาดจึงสำคัญ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เป็นบริษัทประกอบธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง และโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF และโรงไฟฟ้าทั้งหมดตั้งอยู่ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ซึ่ง TPIPP เพิ่งเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรกเมื่อ 5 เมษายน 2560 ด้วยราคาไอพีโอ 7 บาท และแน่นอนว่านี่คืออีกหนึ่งบริษัทของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ที่แยกให้ทำธุรกิจพลังงานโดยตรง นอกเหนือจากการมุ่งไปที่การขายปูนซิเมนต์เพียงอย่างเดียว

นับจากเข้ามาเทรดในตลาดหุ้น TPIPP มีผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่องมาตลอดและการบริหารงานของผู้บริหารก็ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม และจากผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่องรวมถึงเป้าหมายการลงทุนในแนวทางพลังงาน ทำให้ผลประกอบการบริษัทเติบโตต่อเนื่องมา

ล่าสุดหุ้น TPIPP ได้รับคัดเลือกติดอันดับหนึ่งในกลุ่มหลักทรัพย์ยั่งยืน ESG100 ประจำปี 2564 จากจำนวน 824 หลักทรัพย์ ในฐานะเป็นบริษัทที่มีผลดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance:ESG) จากสถาบันไทยพัฒน์ นับเป็นการเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเดินหน้าพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งการที่ TPIPP ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทในกลุ่ม ESG100 ไม่เพียงแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนมากขึ้น หากแต่ยังเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทได้อย่างดี

ขณะเดียวกัน TPIPP ก็อวดผลงานไตรมาสแรกปีนี้ทำรายได้รวม 2,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.55% ที่มีรายได้รวม 2,535 ล้านบาท ขณะมีกำไรสุทธิ 1,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 967 ล้านบาท เพราะมีปริมาณขายไฟฟ้ารวมไตรมาสแรกทั้งสิ้น 474 ล้านหน่วย แม้ว่าจะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า TG8 ช่วงต้นปี 2564 ก็ตาม

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้น TPIPP กลับไม่วิ่งรับข่าวดี และเมื่อมองราคาหุ้นนับจากย่างเข้าปี 2564 ราคาหุ้น TPIPP ยังไม่อาจขยับขึ้นไปยืนเหนือ 5 บาทได้ แม้ว่าแจ้งงบไตรมาสแรกยังคงเติบโตต่อเนื่องทั้งรายได้และกำไร อีกทั้งยังได้งานใหม่เข้ามาหลายโครงการ ซึ่งล้วนจะส่งผลดีต่อผลประกอบการทั้งสิ้น แต่เมื่อมองราคาหุ้น กลับพบว่ายังไม่ขยับไปไหนไกลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 บาทต้นๆ ซึ่งราคาหุ้น TPIPP ปรับขึ้นไปสูงสุดเมื่อเดือน พ.ค.ที่ 4.60 บาทเท่านั้น

โบรกฯมองอนาคตสดใส ให้ราคาเป้าหมาย 5 บาท

บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)  ระบุ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP คาดหวังได้ รฟฟ. ใหม่เข้ามาเสริม โดย TPIPP ชนะประมูลโรงไฟฟ้าขยะ 2 แห่ง คือ ที่ สงขลา 8MW และ นครราชสีมา 9.9MW และ โรงไฟฟ้า TG7 40MW กำลังยื่นขายไฟให้ กฟผ. รวมจะช่วยเพิ่ม EBITDA 1,200 ล้านบาท ชดเชยโรงไฟฟ้า TG3 18MW และ TG5 55MW ที่ทยอยหมด Adder ในปี 2565 เตรียมประมูลโรงไฟฟ้า VSPP 9 โครงการร่วม 100MW หนุนกำลังการผลิตเพิ่มจาก 440MW เป็น 580MW ในปี 2568 สำหรับโครงการ SEZ หรือ โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หรือโครงการ Southern Economic Zone (SEZ) ซึ่งโครงการนี้จะมีสวนอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะ ท่าเรือน้ำลึก และโรงไฟฟ้า โดยมีมูลค่า 3.96 แสนล้านบาท บนพื้นที่ 16,753 ไร่ ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนเปลี่ยนพื้นที่จากจากสีเขียวซึ่งเป็นประเภทชนบทและเกษตรกรรม เป็นสีม่วงซึ่งเป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และ BOI ให้สิทธิพิเศษทางภาษีขั้นสูงสุด ขณะที่หุ้น P/E ต่ำ 8 เท่า และปันผลตอบแทนดี 6.2% คงแนะนำ "ซื้อ" ลงทุน ราคาเป้าหมาย ด้วยวิธี DCF (WACC = 8.4%) ได้ 5 บาท

บล.หยวนต้า  แนะนำ "ซื้อ"หุ้น TPIPP ให้ ราคาเป้าหมาย 5 บาทต่อหุ้น เพราะภาพรวมปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 4,506 ล้านบาท และกำไรปกติ 4,510 ล้านบาท จากยอดขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากการผลิตที่ต่อเนื่อง หลังจากลงทุนติดตั้ง Boiler ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานปกติเติบโตได้เล็กน้อยเพราะถูกถ่วงด้วยค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น

สำหรับปี 2564 คงประมาณการกำไรปกติที่ 4,739 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน หนุนจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นตามการรับรู้ประโยชน์ลงทุนติดตั้ง Boiler ในช่วงที่ผ่านมา และการรับรู้รายได้จากโรงงาน RDF ที่จะเริ่ม COD ภายในปี 2564 แถมยังเป็นผู้ชนะการเสนอราคาโครงการลงทุนก่อสร้าง และบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ระยะเวลา 20 ปี คาดใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เริ่มรับรู้รายได้ปี 2566 ประเมินรายได้ปีละ 400 ล้านบาท และเดินหน้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่ง TPIPP มีปัจจัยการเติบโตระยะยาวจากการลงทุนโครงการเมืองต้นแบบที่ อ.จะนะ ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะช่วยยกระดับผลประกอบการของ TPIPP ไปอีกขั้น จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 5.00 บาท จาก Valuation ที่ไม่แพง โดยซื้อขายบน PER ที่ 8-10x และมีผลตอบแทนจากเงินปันผล 5-6% ต่อปี

ปีนี้คงเป้ารายได้ระดับ1.2หมื่นล้านบาท

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP เผยว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้อยู่ที่ 11,000-12,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นทำให้ต้นทุนต่ำลง บวกกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูง อีกทั้งการขาย เชื้อเพลิง RDF ให้บริษัทแม่ อย่าง บมจ.ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPL ซึ่งจะรับรู้รายได้ปีละ 350-450 ล้านบาทต่อปี และบริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ามาอยู่ที่ระดับ 580 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตรวม 440 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีแผนที่จะลดการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า TG7 และ TG8 จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 50% ลดเหลือ 25% ในปี 2568

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัทที่ Adder จะทยอยหมดอายุลงในปี 2565 จะทำให้ EBITDA ของ บริษัทลดลง 800-900 ล้านบาท และปีถัดไปลดลงระดับ 1,000 ล้านบาทนั้น จะมี EBITDA ชดเชยเข้ามากจากโครงการ TG7 และโรงไฟฟ้าขยะ ที่ชนะประมูลจากนครราชสีมาและสงขลา รวมทั้ง โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ อื่นด้วยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับแผนงานระยะยาวนั้น TPIPP จะพัฒนาโครงการพื้นที่ทางภาคใต้ใน 4 ธุรกิจ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้า LNG ขนาดกำลังการ ผลิต 1,700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมโครงการละ 1,000 เมกะวัตต์

"บริษัทอยู่ระหว่างรอความคืบหน้าในเรื่องต่าง ๆ ของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ทั้งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน(ผังสี)ของพื้นที่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา การปรับแก้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเอื้อต่อการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้เพราะก่อนหน้านี้ คณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน หรือบีโอไอ ได้มีมติให้ อ.จะนะ เป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบในโครงการ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" และได้สิทธิประโยชน์สูงสุดตามกฎหมายกำหนดเทียบเท่ากับ อีกเมืองต้นแบบอื่นๆ แล้ว"นายภัคพลกล่าว

ส่วนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต หรือโครงการ Southern Economic Zone ที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ขนาด 3,700 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากเชื้อเพลิงแก๊สธรรมชาติราว 1,700 เมกะวัตต์ และเป็นส่วนของพลังงานทดแทนอีกราว 2,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเป็นโครงการโซลาร์ 1000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอให้โครงการดังกล่าวบรรจุเข้าไปในแผนพลังงานแห่งชาติที่อยู่ระหว่างการทบทวนปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก

เนื่องจากโครงการนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่และต้องใช้ความเชี่ยวชาญและเม็ดเงินลงทุนมหาศาล ดังนั้นการมีพันธมิตรจึงเป็นสิ่งควรกระทำ ซึ่ง TPIPP ได้รับการติดต่อจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่สนใจร่วมลงทุน อย่างศูนย์พลังงานสะอาดลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท Korea Gas Cooperation และบริษัท Korea Western Power จากรัฐบาลเกาหลี บริษัท Norinco International Cooperation Limited และ บริษัท China Datang Overseas Investment Company Limited จากรัฐบาลจีน และยังมีบริษัทเอกชนจากหลายประเทศ ที่สนใจร่วมลงทุนในพลังงานสะอาด

ขณะที่ โครงการท่าเรือน้ำลึกและศูนย์กระจายสินค้า TPIPP ลงนาม MOU กับ บริษัท CRCC Malaysia BHD จากรัฐบาลจีน ส่วนโครงการ Smart City มีบริษัทที่แสดงความสนใจในตัวโครงการจากหลายประเทศ รวมถึงโครงการสวนอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนจากหลายประเทศที่แสดงความสนใจทั้งร่วมลงทุนพัฒนาสวนอุตสาหกรรม และตั้งโรงงานในสวนอุตสาหกรรมนี้ เหล่านี้ล้วนเป็นแผนงานที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น TPIPP ได้รับคัดเลือกเพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 ที่จะใช้เงินลงทุน 1,800 ล้านบาท ซึ่งขอบเขตของงานจ้าง เทศบาลนครราชสีมาได้กำหนดปริมาณขยะมูลฝอยเข้าสู่โครงการไม่น้อยกว่า 400 ตันต่อวัน โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี ค่ากำจัดขยะมูลฝอยไม่เกิน 400 บาทต่อตัน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในปีแรกของการเดินระบบ และปรับเพิ่มขึ้น 10% ทุก ๆ 3 ปี และจะมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจากการกำจัดขยะมูลฝอย ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี ในอัตรา 5.78 บาทต่อหน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และอัตรา 5.08 บาทต่อหน่วยสำหรับ 12 ปีถัดไป

โดยโครงการนี้คาดใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2566 คาดสร้างรายได้ให้บริษัทปีละ 480 ล้านบาท อีกทั้งเตรียมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะ อีก 11 โครงการ กำลังการผลิตรวม 135 เมกะวัตต์ และนั่นจะทยอยเข้ามาเสริมทัพให้กับโรงไฟฟ้าเดิม ซึ่งนั่นจะส่งผลดีต่อผลประกอบการให้เติบโตได้ในอนาคตและเริ่มเห็นผลตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

“ แนวโน้มผลดำเนินงานช่วงที่เหลือของปี 2564 นั้น คาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและติดตั้งหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 98% ตลอดทั้งปี ทำให้สร้างรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ ”

ดังนั้น ปีนี้ธุรกิจโรงไฟฟ้ายังดีต่อเนื่อง คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิต ของโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ กฟผ.เพิ่มขึ้นแตะ 98% ขณะที่การจำหน่ายไฟฟ้าให้โรงปูนคาดว่า Utilization Rate จะเพิ่มเป็น 65-70%

ออกหุ้นกู้รีไฟแนนซ์หนี้ ลุยขยายงานต่อเนื่อง

นับจากเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ฯ TPIPP ได้ ออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ขยายงานและรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ชุดเก่าที่ออกไปก่อนและครบดีลชำระคืนเป็นรอบๆ ไป ล่าสุดคือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2564 ออกและเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปในวันที่ 7-9 มิถุนายนนี้ อายุ 2 ปี 6 เดือน ชูอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.00% ต่อปี วงเงินรวมไม่เกิน 3,000 ล้านบาท อันดับความน่าเชื่อถือโดยทริสเรทติ้งที่ "BBB+" และแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable"

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 TPIPP ออกหุ้นกู้ 4 พันล้านบาท อายุ 3 ปี 11 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 3.90% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน ราคาที่เสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ที่เสนอขายจำนวนไม่เกิน 3,000,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 3,000 ล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมอีก 1,000,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่เสนอขายได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ BBB+ แนวโน้มความน่าเชื่อถือคงที่ (Stable)

สำหรับการออกหุ้นกู้ล็อตนี้นั้นเพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนซื้อเครื่องจักรหม้อต้มไอน้ำ (Boilers) เครื่องคัดแยกและแปรรูปเชื้อเพลิงขยะ ห้องเก็บเชื้อเพลิงขยะ ระบบสายพานลำเลียง และเครื่องจักรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 2,000 ล้านบาท ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโรงไฟฟ้า/ขยายกำลังการผลิตเชื้อเพลิงขยะ ที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทฯ และการพัฒนาโครงการพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (SEZ) ตามนโยบายความมั่นคงของประเทศ ซึ่งได้รับอนุมัติจากครม.เห็นชอบโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ปัจจุบัน TPIPP มีหุ้นกู้ขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 9.6 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2564 นี้ โดยบริษัทวางแผนจะลดความเสี่ยงในการไถ่ถอนหุ้นกู้ โดยการทยอยออกหุ้นกู้ชุดใหม่ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า TPIPP จะสามารถรับมือความเสี่ยงในการไถ่ถอนนี้ได้ โดยพิจารณาจากประวัติในการออกหุ้นกู้ อีกทั้ง ยังอยู่ในระหว่างการขอวงเงินสินเชื่อสำรองในกรณีที่ไม่สามารถการออกหุ้นกู้ได้ครบตามที่วางแผนไว้ด้วย

จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่าการเติบโตของ TPIPP ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องหลังชนะประมูลในหลาย ๆ โครงการ แต่โครงการเมืองต้นแบบที่ อ.จะนะ นั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งต้องอาศัยเวลาและต้องศึกษาออกแบบโครงการอย่างรอบครอบ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน เป็นต้น นั่นอาจมองได้ว่าโครงการกว่าจะก้าวไปได้แต่ละส่วนกว่าเห็นผลสำเร็จคงใช้เวลาไม่น้อย และหากเกิดขึ้นและประสบผลสำเร็จ นั่นจะส่งผลดีต่อ TPIPP เพราะผลตอบแทนและรายได้จากโครงการนี้ก็ไม่น้อยเลยทีเดียวและเมื่อนั้นย่อมมีผลต่อ TPIPP อย่างชัดเจน แน่นอนว่าราคาหุ้นก็คงไม่นิ่งเหมือนที่เป็นอยู่




กำลังโหลดความคิดเห็น