ลุ้น พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทผ่านสภา หนุนหุ้นค้าปลีก-การเงินทรับอานิสงส์ นักวิเคราะห์เชื่อเงินกู้รอบนี้ไม่ดันหนี้สาธารณะพุ่งเกินเพดาน 60% ด้าน FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนแตะ 126.4 อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง รับแผนการฉีดวัคซีน ให้เป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้แตะ 1,650 จุด แนวโน้มครึ่งปีหลังขาขึ้น
จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ส่วนหนึ่งเพราะการเกิดโรคระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองไปทั่วโลก ส่งผลให้รัฐบาลแต่ละประเทศต่างต้องออกมาตรการอัดฉีดเงินตามนโยบายหวังกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ นัยว่าเพื่อให้ประชาชนกลับมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น รัฐบาลไทยเองก็เช่นกัน ได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังเกิดการระบาดของไวรัส-19 หลักๆ คือการเล็งไปที่กระตุ้นการท่องเที่ยว ชิมช็อปใช้ คนละครึ่ง และอีกมากมาย ซึ่งระยะหลังเป็นการโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีเงินฝากรวมทั้งบัตรต่างๆ ที่รัฐจัดหาให้
ดังนั้น มาตรการต่างๆ ล้วนใช้เงินงบประมาณจากเงินคงคลัง ทำให้เงินหร่อยหรอ การกู้ยืมของภาครัฐจึงต้องเกิดขึ้น และแแน่นอนว่าเมื่อทุกฝ่ายเล็งเห็นวงเงินกู้งวดนี้ 5 แสนล้าบาท ที่จำเป็นต้องกู้ สิ่งที่ตามมาคือรัฐบาลต้องตอบคำถามให้ชัดเจนเพื่อความโปร่งใสและให้มติดังกกล่าวโหวตผ่านผ่านสภา
สำหรับวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทนี้ รัฐให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 นำไปช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งงบประมาณการกู้เงินครั้งนี้เพื่อนำไป 3 ทางคือ เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น วัคซีน รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้ประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพ 300,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 170,000 ล้านบาท
จากมาตรการของรัฐ และหากวงเงินกู้นี้ผ่านสภา นั่นหมายถึงเม็ดเงินในระบบจะเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายของประชาชนจะมีมากขึ้น ส่งผลให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไหวตาม และย่อมส่งผลบวกต่อภาพรวม ขณะที่ผู้ประกอบการก็กล้าที่จะลงทุน ดังนั้น หุ้นหลายตัวและหลายกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการของรัฐย่อมคึกคัก
พ.ร.ก.เงินกู้ผ่าน หนุนตลาดหุ้น
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด หรือ ASPS ประเมินถึงประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตา คือ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นการพิจารณาให้เสร็จสิ้นในวันเดียว โดยประเมินว่า เสียงข้างมากของฝ่ายรัฐบาลน่าจะทำให้ผ่านการโหวตไม่ยาก เห็นได้จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (ต.ค.64-ก.ย.65) วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านในวาระ 1 (ชั้นรับหลักการ) ด้วยคะแนนเสียง 269 ต่อ 201 ซึ่ง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะถูกจัดสรร 3 ส่วน คือ เยียวยาประชาชน (3 แสนล้านบาท ) ฟื้นฟูเศรษฐกิจ (1.7 แสนล้านบาท) และสาธารณสุข (3 หมื่นล้านบาท )
โดยประเมินว่า หาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทผ่านสภาจะช่วยให้ภาครัฐมีวงเงินสำหรับเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องไปจนถึงปี 65 ซึ่งดีต่อเศรษฐกิจ และเป็น Sentiment ตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการในส่วนเยียวยาอย่างกลุ่มค้าปลีก เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SPVI และกลุ่มการเงิน เช่น บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR
นอกจากนี้ บล.เอเซียพลัส ยังมองตัวเลขหนี้สาธารณะ ตามการประเมินของผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กรณีที่หากกู้เงินตามแผนจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มเป็น 58.56% ของ GDP ในเดือน ก.ย.64 หรือสิ้นปีงบประมาณ 64 ซึ่งยังไม่เกินกรอบเพดานกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของ GDP แต่หากประเมินกรณีเลวร้ายหนี้สาธารณะของไทยเกินกรอบ 60% ของ GDP ในปี 65
ทั้งนี้ บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า เบื้องต้นภาครัฐอาจพิจารณาไว้ 2 แนวทางคือ กำหนดแผนการบริหารหนี้สาธารณะให้เข้มงวดขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐระบุว่า "หากการบริหารหนี้สาธารณะไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบที่กำหนด ให้รัฐมนตรีคลังรายงานเหตุผล วิธีการ และระยะเวลาในการทำให้หนี้สาธารณะกลับมาอยู่ภายในกรอบที่กำหนดต่อ ครม. และพิจารณาปรับเพิ่มกรอบหนี้สาธารณะ โดย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกำหนดให้การกำหนดกรอบเพดานหนี้สาธารณะเป็นหน้าที่ของ "คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ" ซึ่งจะมีการประชุมกันอีกครั้ง
คาด SET Index ครึ่งปีหลังแตะ 1,650 จุด
อย่างไรก็ดี บล.เอเซียพลัส ประเมินแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลัง มองว่าจะยังเป็นทิศทางขาขึ้น แต่มีอัปไซต์ที่น้อยกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดได้คาดหวังในเรื่องวัคซีน และการเปิดประเทศไว้แล้วให้เป้าดัชนีปีนี้ที่ 1,650 จุด
ขณะปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป จากการทยอยเปิดประเทศหลังจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกไทยได้อานิสงส์ไปด้วย การติดตามผลการประชุมธนาคารกลางในยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอังกฤษ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย เช่น มาเลเซีย เวียดนาม
ด้านปัจจัยในประเทศ คือ การจัดสรรและกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ผลการพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้
หนี้สาธารณะไม่ทะลุเพดาน 60%
อย่างไรก็ตาม ส่วนความกังวลด้านหนี้สาธารณะ ประเมินว่า หากอิงความเห็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในกรณีที่หากกู้เงินตามแผนจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มเป็น 58.56% ของ GDP ในเดือน ก.ย.64 (สิ้นปีงบประมาณ 64) ซึ่งยังไม่เกินกรอบเพดานกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของ GDP
และหากประเมินกรณีเลวร้าย หนี้สาธารณะของไทยเกินกรอบ 60% ของ GDP ในปี 65 บล.เอเซียพลัส ประเมินว่าเบื้องต้นภาครัฐอาจพิจารณา 2 แนวทางคือ กำหนดแผนการบริหารหนี้สาธารณะให้เข้มงวดขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐระบุว่า หากการบริหารหนี้สาธารณะไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบที่กำหนด ให้รัฐมนตรีคลังรายงานเหตุผล วิธีการ และระยะเวลาในการทำให้หนี้สาธารณะกลับมาอยู่ภายในกรอบที่กำหนด ซึ่งในที่นี้คือ 60% ของ GDP ต่อ ครม.
และอีกกรณีคือพิจารณาปรับเพิ่มกรอบหนี้สาธารณะ โดย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกำหนดให้การกำนดกรอบเพดานหนี้สาธารณะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งจะมีการประชุมกันในเร็วๆ นี้
วัคซีนโควิด-19 อีกหนึ่งปัจจัยหนุน SET INDEX
บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด ประเมินว่า กรณีราชวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เตรียมนำเข้าวัคซีน COVID-19 BBIBP-CorV ของซิโนฟาร์ม (Sinopharm) จำนวน 1 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกนั้น จะเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะเห็นว่านักลงทุนสถาบันหรือกองทุนต่างๆ เริ่มกลับเข้ามาทยอยสะสมหุ้นเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กองทุนเริ่มเข้ามาสะสมหุ้นในกลุ่ม SET50 ก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อรับกับประเด็นข่าวการปูพรมฉีดวัคซีนที่จะเริ่มในเดือน มิ.ย.นี้ และเมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกเข้ามาอีก ทำให้กองทุนเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น เพราะคาดหวังว่าวัคซีนอย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นาจะทยอยตามเข้ามา
ส่วนหุ้นในกลุ่ม SET50 ที่น่าสนใจคือ กลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมี ที่แนวโน้มผลประกอบการจะออกมาดีขึ้นในปีนี้ ขณะเดียวกัน ยังได้ประเมินผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ.ไตรมาส 2/2564 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังมีทิศทางที่เป็นเชิงบวก
ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน พ.ค.64 พบว่า ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 126.40 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุน ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามในไทย รองลงมาคือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ดังนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.64) อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 126.40 ซึ่งความเชื่อมั่นนักลงทุนเกือบทุกกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" ยกเว้นความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว"
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION) ส่วนปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ แผนการกระจายวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม
ผลสำรวจ ณ เดือน พ.ค.64 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 3% อยู่ที่ระดับ 125.37 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ระดับ 150.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับพิ่มขึ้น 26% อยู่ที่ระดับ 118.75 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติคงตัวที่ระดับ 120.00
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ช่วงเดือน พ.ค.64 SET index ผันผวนอยู่ระหว่าง 1,548.13-1,593.59 โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในสัปดาห์แรก ตามแรงหนุนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป และความคาดหวังที่จะได้จำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้นจากการร่วมมือของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงอย่างหนักช่วงกลางเดือน เนื่องจากนักลงทุนกังวลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงเกิดคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงอาจลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น
อีกทั้งปัจจัยในประเทศซึ่งพบคลัสเตอร์การระบาดใหม่หลายแห่งในกรุงเทพฯ การพบไวรัสสายพันธุ์อินเดียในไทย และความล่าช้าของการกระจายวัคซีน โดยมีปัจจัยบวกคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านบาท
นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีทิศทางที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายดัชนีที่ 1,600-1,650 จุด แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นคงไม่มากเหมือนกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงติดตามการฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 และการเปิดประเทศเพื่อที่จะรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งจะกลับทบทวนเป้าหมายดัชนีปี 64 อีกครั้ง
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป จากการทยอยเปิดประเทศหลังจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกไทยได้อานิสงส์ไปด้วย การประชุมธนาคารกลางในยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอังกฤษ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย
ขณะที่ปัจจัยในประเทศนั้น ประกอบด้วย การสรรหาและแจกจ่ายวัคซีนในประเทศให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสในปีนี้ ผลการพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 5 แสนล้านบาท และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. 23 มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ดี หลังข่าว พ.ร.ก.เงินกู้งวดนี้ผลจะออกมา อย่างน้อยหุ้นหลายตัวที่จะได้อานิสงส์ก็วิ่งรับข่าวไปแล้ว เพราะเม็ดเงินก้อนนี้จะถูกส่งมายังประชาชนถึง 3 แสนล้านบาท นั่นจึงกลายเป็นตัวแปรใหม่ที่เพิ่มเข้ามาให้เกิดความคึกคักในตลาดหุ้นไทย แต่ต้องลุ้นกันว่าจะผ่านสภาหรือไม่ เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ