xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลง-ทองขึ้น หุ้นสหรัฐฯปิดลบจากความกังวลตัวเลขเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาน้ำมันปรับลดในวันจันทร์ (7 มิ.ย.) หลังพบจีนนำเข้าลดลง ส่วนวอลล์สตรีทปิดลบ กังวลตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขณะที่ทองคำดีดตัว 2 วันติด แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 1,900 ดอลลาร์

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ลดลง 39 เซนต์ ปิดที่ 69.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอนงวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 40 เซนต์ ปิดที่ 71.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ตลาดน้ำมันแกว่งตัวลง นักวิเคราะห์เชื่อว่าถูกกดดันจากข้อมูลของจีนที่พบว่าตัวเลขนำเข้าน้ำมันดิบของชาติผู้บริโภครายใหญ่ของโลกแห่งนี้ ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบปีในเดือนพฤษภาคม

ยอดนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือนพฤษภาคม ลดลง 14.6% จากระดับสูงสุดของ 1 ปีก่อนหน้านี้ ในขณะที่ตัวเลขนำเข้ารายวันแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2021 ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการที่โรงกลั่นทั้งหลายปิดบำรุงรักษา

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดลบพอสมควรในวันจันทร์ (7 มิ.ย.) แม้ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังอเมริกา พยายามคลายความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย สืบเนื่องจากการดีดตัวขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อ

ดาวโจนส์ ลดลง 126.15 จุด (0.36 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 34,630.24 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 3.37 จุด (0.08 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,226.52 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 67.23 จุด (0.49 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 13,881.72 จุด

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค หลังจากพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงในเดือนเมษายน

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯจะเปิดเผยดัชนี CPI ในวันพฤหัสบดี (10 มิ.ย.) ท่ามกลางความคาดหมายของพวกนักวิเคราะห์ว่า ดัชนี CPI จะพุ่งขึ้น 4.7% เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 4.2% ในเดือนเมษายน

คาดกันว่า หากดัชนียังคงปรับตัวอย่างร้อนแรงในเดือนพฤษภาคม ก็อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ในการประชุมนโยบายการเงินช่วงกลางเดือนมิถุนายน

ความเคลื่อนไหวของตลาดทุน ผลักราคาทองคำ ในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ปิดบวกในวันติดในวันจันทร์ (7 มิ.ย.) แต่ยังคงต่ำกว่า 1,900 ดอลลาร์ โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 6.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,898.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์

(ที่มา: รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น