xs
xsm
sm
md
lg

ปิดจุดตายโควิด-19 ระบาดแคมป์ก่อสร้าง อสังหาฯ ชลบุรีขึ้นป้ายเตือนแรงงาน "ถ้าโควิดมา งานไม่มี เงินก็หมด"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แคมป์คนงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นอีกหนึ่งคลัสเตอร์ที่ได้เกิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนแคมป์ก่อสร้าบางแห่งต้องปฏิบัติในเรื่องมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในการกักตัวหรือหยุดการก่อสร้างเพื่อเฝ้าระวัง 14 วัน โดยปัจจุบัน มีแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ (กทม.) และต่างจังหวัดประมาณ 409 แห่ง มีคนงานประมาณ 62,169 คน กว่า 50% จะเป็นกลุ่มก้อนแรงงานต่างชาติ

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงมาตรการการจัดแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อระดมความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและต่างจังหวัด ถึงทางออกและทางรอดในการสกัดความเสี่ยงที่จะเกิดโควิด-19 จากคลัสเตอร์ก่อสร้างว่า จากตัวเลข ศบค. ที่ประกาศออกมา พบผู้ติดเชื้อในแคมป์ก่อสร้างมีตัวเลขทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในแคมป์ก่อสร้างบางแห่งจะมีทั้งคนงานที่มีใบอนุญาตและที่ไม่มีใบอนุญาต และแม้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แคมป์คนงานแต่ละแห่งจะมีมาตรการควบคุมและป้องกัน แต่ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ แม้จะมีการกระบวนการเข้าไปฆ่าเชื้อ แต่หากทำไม่ถูกต้อง หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง จะยิ่งทำให้เชื้อเกิดการกระจายออกไปได้อีก รายละเอียดปลีกย่อยของการระบาดในแคมป์คนงานยังมีอีกเยอะมากมาย

“ไฟกำลังไหม้ ไม่ควรโทษใคร ใครเอาเชื้อเพลิงเข้ามา เราควรดับไฟให้ได้ก่อน หลังจากนั้นค่อยมาพูดถึงว่าจะจัดการอย่างไร ก่อนหน้านี้ ข้อมูลที่ได้รับ ทางกรมแรงงาน ประกันสังคมได้ตรวจเชิงรุกเพื่อดับไฟ แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่ทางกรมแรงงานมีความพร้อมมีโรงพยาบาลในเครือกว่า 90 โรงพยาบาล ทีมงานเยอะมาก เชิงรุกที่เกิดขึ้นมา ได้ช่วยโรงงานอุตสาหกรรมได้เยอะมาก และยังเตรียมเข้าไปตรวจตามรายชื่อแคมป์คนงาน 400 กว่าแคมป์” นายพรนริศ กล่าวและกล่าวตอกย้ำในประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการที่ก่อสร้างโครงการอสังหาฯ ว่า

ทุกแคมป์ต้องดูแลตัวเอง และยื้อเวลาไม่ให้งานหยุด ให้การติดเชื้อห่างออกไปให้มากที่สุดเพื่อมิให้กระทบต่อการส่งมอบงาน ซึ่งอาจจะมีปัญหาตามมากับทั้งเจ้าของโครงการในส่วนของภาครัฐและเอกชน เช่น การก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ลูกค้าที่ซื้ออาจจะลังเลที่จะโอนกรรมสิทธิ์ หรือที่มีปัญหาอยู่แล้วจะยกเลิกการโอน หรือแม้แต่งานก่อสร้างภาครัฐก็มีค่าปรับความล่าช้า เป็นต้น

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี กล่าวว่า ทางสมาคมฯเห็นตรงกันว่า หากโควิด-19 ลามไปวงการธุรกิจก่อสร้าง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง และเรามองว่าเป็นความเสี่ยงสูง เพราะในพื้นที่ก่อสร้างเรื่องระบบสาธารณสุขจะด้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโรงงานอุตสาหกรรม และหากเกิดการระบาดจะไม่ใช่เพียงแต่จะเกิดกับ กทม.แต่จะระบาดไปทั่วถึงต่างจังหวัดได้

“หากคลัสเตอร์แรงงานก่อสร้างระบาดขึ้นมา จะเป็นระเบิดลูกใหญ่มาก เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญอย่างรุนแรง จะกระทบลงลึกถึงระดับเศรษฐกิจรากหญ้า ซึ่งเรายังเห็นว่าหลายๆประเทศ รอบบ้านเรายังเกิดโควิด-19 ระบาดระลอก 3 และ 4 และคิดว่าครั้งนี้คงไม่จบ กว่าวัคซีนจะมาอย่างเร็วกลางปี 2565 และหากเราควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร คิดว่าเราคงกระทบอีกเยอะ”

นายมีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจอสังหาฯ ที่บริษัทดำเนินการอยู่นั้นเรามีหลายไซต์งานและมีคนงานก่อสร้างประมาณ 2,000 คน ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ออกมาตรการออกมาเพื่อมิให้กระทบต่องานก่อสร้างจนต้องหยุดและมีผลไปถึงลูกค้า โดยได้จัดการรณรงค์เขียนป้ายติดตามไซต์งานหลายภาษาเป็นสีแดง โดยหยิบประเด็นให้คนเหล่านี้ เข้าใจในเรื่อง “ถ้าโควิดมา งานไม่มี เงินก็หมด” รวมถึงการเปลี่ยนที่อาบน้ำจากบ่ออาบน้ำเป็นฝักบัว มีจุดครัดกรองเพื่อคัดแยกในกรณีเป็นพิเศษ รวมถึงญาติที่จะเข้ามาพบจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามด้วย เป็นต้น

แพทย์หญิงวรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยตอนนี้อยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งเป้าหมายไม่ได้มุ่งการหยุดเชื้อ แต่จะให้น้ำหนักในเรื่องชะลอการแพร่เชื้อแบบลดการสูญเสียหรือเสียชีวิต ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่างๆ และไม่อยากให้เกิดระบาดระลอกที่ 4 ที่อาจทำให้เกิดความสิ้นหวัง จนนำไปสู่ปัญหาทางสังคมและเกิดการฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้ เราจะพบจุดตายในแคมป์ก่อสร้างที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้นั้น ได้แก่ 1.จุดน้ำดื่ม แก้วน้ำที่ถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ทางกรมควบคุมโรค เสนอให้ใช้เหยีบน้ำแทน แต่ละคนต้องมีแก้วน้ำเป็นของตนเอง 2.กรณีที่ไม่ใช่คนในครอบครัวเดียวกัน การปรับประทานอาหารควรเว้นรอบระยะห่าง 1 ตารางเมตร (ตร.ม.) 3.โรงอาหารควรมีฉากกั้น ลดเวลาให้เกิดการเหลื่อมล้ำเวลาทานอาหาร 4.ราวบันได อาจต้องจัดคนคอยเช็ดราวบันได เนื่องจากตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่ราวบันได 5.กรณีที่คนงานอยู่ในพื้นที่สีแดง ต้องควบคุมห้ามกลับภูลำเนา เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ และ 6.จดทำทะเบียนลูกจ้างและมาพิจารณาในเรื่องลูกจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะทำอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น