ผู้ถือหุ้นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เกิดอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายไปตามๆ กัน เพราะราคาหุ้นช่วงนี้ปรับตัวลงและลงแรงกว่าหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ด้วยกัน
วันพุธที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ราคาหุ้น KBANK ปิดที่ 119.30 บาท ลดลง 3 บาท มูลค่าซื้อ 5,741.42 ล้านบาท และเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดประจำวัน
ราคาหุ้น KBANK มีลักษณะเหมือนหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ด้วยกัน โดยขึ้นลงตามภาวะตลาด และหลายปีที่ผ่านมา หุ้นแบงก์ทรุดตัวลงมาเนื่องจากความกังวลในปัญหาหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
วิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมหุ้นกลุ่มแบงก์ดิ่งลงเหวลึก โดย KBANK ร่วงลงต่ำสุดที่ 70 บาท ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2563 และปิดวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ที่ 113 บาท
เริ่มปี 2564 KBANK ฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ด้วยกัน และขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบปีที่ 153 บาท เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนจะอ่อนตัวลง
แรงขายที่ถล่มใส่ KBANK ในช่วงสัปดาห์นี้ คาดกันว่า เกิดจากสัดส่วนการถือหุ้นผ่าน NVDR หรือใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ใกล้เต็มเพดาน 25% ซึ่งมีผลให้ MSCI ถอดหุ้น KBANK ออกจากน้ำหนักในการคำนวณดัชนี
NVDR เป็นช่องทางที่นักลงทุนต่างชาติลงทุนในหุ้นแบงก์ โดยจะได้รับสิทธิเหมือนหุ้นสามัญ เช่น เงินปันผล สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนและกำไรจากส่วนต่างราคา แต่ไม่มีสิทธิในการโหวตเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น และกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นผ่าน NVDR ไม่เกิน 25% ของทุนจดทะเบียน
สัดส่วนการถือหุ้น KBANK ผ่าน NVDR ปริ่มชนเพดาน 25% เช่นเดียวกับหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ และเข้ามาลงทุนจนสัดส่วนการลงทุนผ่าน NVDR แทบล้น
อย่างไรก็ตาม การถูกลดน้ำหนักหรือถอดจากการคำนวณดัชนีที่นักลงทุนทั่วโลกใช้อ้างอิง ย่อมส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยา และนำมาซึ่งการเทขายได้
แต่ราคาที่ปรับตัวลงกลับถูกมองว่า เป็นโอกาสที่นักลงทุนจะช้อนซื้อหุ้นในราคาต้นทุนต่ำ เพื่อถือลงทุนระยะยาว เพราะ KBANK ยังเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี
ผลประกอบการ KBANK ยังดี โดยรักษาผลกำไรได้ต่อเนื่อง แม้ว่าปี 2563 กำไรจะชะลอตัว เนื่องจากผลประทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้กำไรลดลงเหลือ 29,487.12 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 38,726.74 ล้านบาท
แต่ไตรมาสแรกปีนี้กำไรเติบโตขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 10,626.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,581.68 ล้านบาท
ค่าพี/อี เรโช KBANK อยู่ที่ 8.44 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 2.09% ขณะที่หุ้น BBL มีค่าพี/อี เรโช 13.42 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทน 2.16% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีค่าพี/อี เรโช 12.54 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 2.22%
KBNAK เป็นหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ยอดนิยมอีกตัวหนึ่ง โดยมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งสิ้น 67,654 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 79.60% ของทุนจดทะเบียน การขึ้นลงของราคาหุ้น จึงส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การถูกเทขายในรอบนี้แม้จะทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนหนึ่งเกิดความหวั่นไหว แต่นักลงทุนจำนวนมาก กลับเห็นเป็นจังหวะในการซื้อเก็บ
ถ้าลงมาแรงๆ มีนักลงทุนรอเฝ้าเข้าไปซื้ออยู่ แต่ KBANK กลับไม่ลงมาให้ซื้อเสียแล้ว