“โรงพยาบาลจุฬารัตน์” ผลงานร้อนแรงจนกูรูแห่เชียร์ หลังไตรมาสแรกปี 64 กำไรโต 35% จากการใช้บริการของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเข้ารับบริหารโรงพยาบาลหนุนกำไรขั้นต้น อีกทั้งความสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหาร จนหลายฝ่ายตั้งความหวังคงอัตราเติบโตแบบนี้ตลอดทั้งปี
เมื่อเร็วๆ นี้ หุ้นของบริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) (CHG) ถือเป็นอีกหนึ่งหุ้นที่ร้อนแรง โดยเฉพาะในด้านราคาหุ้น พบว่าขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และที่น่าสนใจคือ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2564 จนมาถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งราคาหุ้นขยับขึ้นมาถึงระดับ 3.54 บาทต่อหุ้น และหากพิจารณาจากวันแรกของปี (4 ม.ค.2564) ซึ่งราคาอยู่ที่ระดับ 2.44 บาทต่อหุ้น พบว่าราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 45%
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ CHG นั่นคือ การเห็นพ้องในทิศทางเดียวกันของบรรดากูรู หรือนักวิเคราะห์จากค่ายต่างๆ ที่พาเหรดออกมาแนะนำนักลงทุนให้เข้าสะสมหุ้น CHG อย่างต่อเนื่อง ด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ปัจจัยบวกจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นำไปสู่ความต้องการวัคซีนป้องกันของประชาชนในปริมาณที่สูง
ทั้งนี้ CHG รายงานกำไรสุทธิที่ 252 ล้านบาท สำหรับไตรมาส 1/64 สูงขึ้น 35% เทียบปีก่อน (ทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาสก่อน ) โดยผลประกอบการสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ 9% อีกทั้งมีอัตรากำไรขั้นต้นดีกว่าคาด 30bps และสัดส่วนค่าใช้จ่ายการขายและการบริหารน้อยกว่าคาด 80bps และสูงกว่าที่ตลาดคาด 30% จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น 8.6% โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทำให้ คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/64 น่าจะออกมาดีและจะช่วยลดความเสี่ยงขาลงของราคาหุ้น ยิ่งไปกว่านั้นนักวิเคราะห์พบว่าราคาหุ้นยังอัปไซด์ประมาณ 5-10% ต่อคาดการณ์กำไร หากบริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรหลักดังเช่นไตรมาส 1/64 ไว้ได้ในระดับ 17.1% ตลอดปี 2564 ซึ่งหากแนวโน้มเป็นเช่นนั้นอาจมีการทบทวนประมาณการกำไรและคำแนะนำอีกครั้ง
ปัจจัยที่สนับสนุนถูกให้น้ำหนักไปที่การตรวจเชื้อโควิด-19 ซึ่งครึ่งเดือนแรกของเดือน ม.ค. มีการตรวจราวๆ 500เคส/วัน (เคสลูกค้าจ่ายเงินเองคิดเป็นเงิน 3,000 บาท/เคส เคสรัฐจ่ายคิดเป็นเงิน 2,300 บาท/เคส) ส่งผลให้รายได้ในส่วนของโครงการภาครัฐอื่นปรับตัวเพิ่มขึ้น 63% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ ทาง CHG ยังได้แรงหนุนจากรายได้อื่นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57 ล้านบาท จากธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นการรับจ้างบริหารโรงพยาบาลอื่น ซึ่งช่วงไตรมาสแรกมีอยู่ 2 โรงพยาบาลด้วยกัน (ที่เกาะล้าน 1 และที่พัทยาอีก 1)
ในส่วนของ GPM และ NPM ภาพรวมยังสามารถทำได้ดี โดยปรับตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 29.70% และ 17.80% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากการ Performance ที่ดีขึ้นของโรงพยาบาล Chularat 304 inter ทำให้หลายฝ่ายมองว่าปีนี้ยังจะเป็นปีที่ดีของ CHG เนื่องจากการรับรู้รายได้การรับจ้างบริหารโรงพยาบาล 2 โรงพยาบาลที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรกปี 64 และการรับรู้รายได้เพิ่มเติมเริ่มไตรมาส 2 นี้ จากการรับจ้างบริหารศูนย์หัวใจสิรินธร (ซึ่งเบื้องต้นคาดรายได้ราว 150 ล้านบาท/ปี) ขณะที่โรงพยาบาล Chularat 304 inter และรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา (RPC) จะสามารถทำกำไรสุทธิได้แล้วจาก Operation ปกติ
อนึ่ง โรงพยาบาล Chularat 304 inter เริ่มเปิดให้บริการลูกค้าประกันสังคมโควตา 50,000 ราย คาดว่าปีแรกจะสามารถรับผู้ประกันตนราว 10,000-20,000 ราย อิงค่าเหมาหัวที่ 1,640 บาท/ราย/ปี และอนุมานค่าส่วนเพิ่มที่ 2,000 บาท/ราย/ปี เฉพาะปัจจัยนี้จะส่งผลให้รายได้ปี 2564 ของ CHG สูงขึ้นอีกราว 36.4-72.8 ล้านบาท โดยมี Cost เพิ่มขึ้นตามไม่สูงเนื่องจากโรงพยาบาลมีศักยภาพรองรับ Operation อยู่แล้ว
นอกจากนี้แล้วในปี 64 ทาง CHG ยังไม่มีแผนเปิดโรงพยาบาลใหม่ (คาด รพ.จุฬารัตน์ แม่สอด และศูนย์มะเร็งสุวรรณภมิ จะเปิดราวปี 65-66) ส่งผลให้ Net Income Margin ไม่ถูกดึงลงมากนัก ขณะที่โรงพยาบาลใหม่ที่เปิดช่วงปีก่อนๆ สามารถ Breakeven กำไรสุทธิได้
ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาส 2 นี้ เริ่มเห็นการเร่งตัวของการตรวจเชื้ออีกครั้ง (โควิด-19 ระลอก 3) ทำให้คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสสูงที่รายได้ปกติราว 3% จากผู้ป่วยต่างชาติ Fly-in จะเริ่มกลับมาบางส่วน โดยปัจจุบันปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 64 และปี 65 ขึ้นมาอยู่ที่ 1,073 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.42% และ 1,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.56% ตามลำดับ โดยประเมินราคาเป้าหมายใหม่ปี 64 อยู่ที่ 3.66 บาทต่อหุ้น และราคาหุ้นปัจจุบันพบว่ายังมี Upside ราว 11%
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ CHG ในปีนี้คือ ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 และรวมแพทย์ ฉะเชิงเทรา ซึ่งน่าจะถึงจุดคุ้มทุนในครึ่งปีแรก และรายได้การบริหารโรงพยาบาล ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าโรงพยาบาลแบบดั้งเดิมของ CHG นอกจากนี้ คาดว่า CHG จะสามารถคุมสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ (SG&A)/รายได้ อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 12.0% ในปีนี้ และ 12.5% ในปีหน้า (จากเดิมที่คาดไว้ที่ 12.9% และ 13.0%)
นั่นทำให้เราจะได้เห็น ROE ปี 2563 สูงถึง 20.9% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 23.0% และ 23.5% ในปี 2564-65F อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาราคาหุ้น CHG ปรับตัวขึ้นมามากทำให้เหลือ upside ไม่มากนัก
อีกปัจจัยที่ต้องยอมรับว่าส่งผลบวกให้แก่ CHG หนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศ ซึ่งถือเป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ CHG จะเติบโตทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน ซึ่งในไตรมาส 2 ปีนี้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เพิ่มขึ้น โดยคาดว่ารายได้จากบริการที่เกี่ยวกับโควิด-19 จะเพิ่มขึ้น 100% เทียบไตรมาสก่อน เพราะการระบาดระลอกล่าสุดเกิดขึ้นในจังหวัดที่อยู่ใกล้กับเครือข่ายโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ทำให้จำนวนการตรวจโควิด-19 และมีผู้ป่วยมาใช้บริการ IPD เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะทำให้ทั้งรายได้เติบโต และได้ประโยชน์การประหยัดต่อขนาด
เรื่องดังกล่าวมีรายงานว่า สถานการณ์การระบาดล่าสุดส่งผลให้จำนวนผู้เข้ารับการตรวจโควิด-19 ทั่วประเทศเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นถึง 143% เป็น 44,512 รายในช่วงวันที่ 1-24 เมษายน จาก 18,326 รายในไตรมาสแรก
ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นเป็น 1,562 รายในช่วงวันที่ 1 เมษายน-15 พฤษภาคม จาก 244 รายในไตรมาสแรกปีนี้ เพราะในจังหวัดที่อยู่ใกล้กับเครือข่ายโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง) จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 10,183 ราย ในช่วงวันที่ 1 เมษายน-20 พฤษภาคม จากเดิมมที่มีเพียง 1,697 ราย ยอดสะสมก่อนวันที่ 1 เมษายน ซึ่งแสดงถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้ป่วยใน
ทำให้คาดว่ารายได้จากบริการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ของโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้น 100% เทียบไตรมาสก่อน เป็น 200 ล้านบาทในไตรมาส 2 นี้ จากการระบาดระลอกล่าสุด ซึ่งทำให้มีผู้มาใช้บริการตรวจโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 800 รายในเดือนเมษายน จาก 333 รายในไตรมาส 1 และจำนวนผู้ป่วยในที่เข้ามารักษาโควิด-19 พุ่งขึ้นเป็น 893 รายในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลนานน่าจะช่วยให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลดีต่อการประหยัดต่อขนาดด้วย ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า CHG มีแผนจะนำเข้าวัคซีนทางเลือกสำหรับป้องกันโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบัน รัฐบาลไทยอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าได้เฉพาะวัคซีนของ Moderna และ อย.รับรองแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม โดยผ่านองค์การเภสัชกรรม
อย่างไรก็ดี มีการคุมราคาจำหน่ายวัคซีนไว้ที่ 3,000 บาท/2 เข็ม โดยจะมีวัคซีนพร้อมเริ่มฉีดภายในเดือนตุลาคม ถึงแม้ว่าผู้ผลิตวัคซีนจะกำหนดให้ต้องมีการชำระเงินก่อนส่งมอบ แต่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อ CHG เนื่องจากสถานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่ง โดยสัดส่วน net D/E ต่ำเพียง 0.1x เท่านั้น ซึ่งยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก
“แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” ยกโควิด-19 หนุน
บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ วิเคราะห์ถึงทิศทางธุรกิจของ CHG ว่า เป็นอีก 1 โรงพยาบาลที่ได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 ปีนี้ โดยกำไรไตรมาสแรกโตเกินคาด คือเพิ่มขึ้น 35% เทียบปีก่อน เหตุรายได้เคสโควิด-19 อยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาท และรายได้จากการรับจ้างบริหาร รพ.ภาครัฐอีก 2 แห่ง ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น 55 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากกิจการโรงพยาบาลเติบโตเพียง 7.4% ซึ่งส่วนใหญ่การเติบโตมาจากการตรวจเชื้อโควิด-19 หลังจากมีการระบาดระลอก 2 ซึ่งยังมีผู้ป่วยเคสโควิด-19 ที่นอนพักค่อนข้างน้อยมาก
ส่วนหนึ่งเพราะมีรายได้จากการรับจ้างบริหารจัดการ รพ.ที่พัทยา 2 แห่ง คือ รพ.เมืองพัทยา และศูนย์แพทย์ชุมชนเกาะล้านราว 55 ล้านบาท นั้นยังเข้ามาไม่เต็มไตรมาส ดังนั้น หากเข้าเต็มไตรมาสจะอยู่ที่ 65-70 ล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ในรายได้อื่น เพราะจะทำให้รายได้รวมจะเติบโตเกิน 17% ขณะต้นทุนจาก 2 รพ.รวมได้ถูกรวมได้ในต้นทุนบริการด้วยทำให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 29.7%
ประเด็นถัดมา รพ.ของ CHG ได้รับอานิสงส์โควิด-19 ระลอก 3 หนุนกำไรไตรมาส 2/64 เติบโตทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน โดยปัจจุบันมีผู้มารับการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากเกินกว่าที่ทาง รพ.กำหนด ขณะที่ รพ.มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 200 เตียง และมีสัญญากับโรงแรม 2 แห่ง ปรับเปลี่ยนเป็น Hospitel กว่า 1,400 เตียง ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงโควิด-19 ทั้งที่รพ.และ Hospitel รวมกันเฉลี่ยราว 700 เตียงต่อวัน
นอกจากนี้ รพ.จะรับรู้รายได้รับจ้างบริหารจัดการ รพ.ที่พัทยางวดไตรมาส 2 นี้เพิ่มอีกราว 10 ล้านบาท และได้ทำสัญญากับ รพ.สิรินธร รับจ้างเหมาบริการศูนย์หัวใจ รพ.สิรินธร โดยมีรายได้จากการรักษาโรคหัวใจที่รพ.ดังกล่าว เข้ามาในรายได้ผู้ป่วยทั่วไปโดยตรงซึ่งตั้งเป้ารายได้ราว 150 ล้านบาท/ปี หรือ 37.5 ล้านบาท/ไตรมาส และเริ่มให้บริการอย่างไม่เป็นทางการปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และอย่างเป็นทางการกลางเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มรายได้ให้แก่ รพ.ไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท หนุนกำไรไตรมาส 2 เติบโตทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน
สิ่งที่น่าสนใจคือ หากครึ่งปีหลังสถานการณ์ โควิด-19 คุมได้จะมีรายได้จากการฉีดวัคซีน และคนไข้ปกติกลับมาใช้บริการมากขึ้น โดยปัจจุบัน รพ. รวมแพทย์ฉะเชิงเทรา เป็น รพ.ตัวอย่าง 1 รพ. ที่ไม่รับผู้ป่วยโควิด-19 หากตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 จะส่งต่อไปยัง รพ.จุฬารัตน์ 11 ทันที ทำให้มีคนไข้มารักษาโรคจำนวนมาก โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อนและต้องการผ่าตัดแบบเร่งด่วน ทำให้ปัจจุบัน รพ.รวมแพทย์สามารถทำการได้แล้ว
ดังนั้น หากสถานการณ์โควิด-19 คุมได้ช่วงครึ่งปีหลัง รพ.อื่นๆ ในกลุ่ม คาดจะมีคนไข้ที่มารับการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน และต้องการการผ่าตัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 ยังยืดเยื้อ รพ.ยังคงได้รับอานิสงส์ของผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากเช่นเดิม ส่งผลให้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 64-65 เฉลี่ยปีละ 17%
“เคทีบีเอสที” คาด Q2 เติบโตต่อ
ขณะที่ บล.เคทีบีเอสที ประเมินทิศทางธุรกิจ CHG ว่า รายได้ไตรมาส 2 ปีนี้น่าจะเติบโตดี จากปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวใน รพ. ราว 200 เตียง และมีที่รักษาอยู่ใน Hospitel ราว 700 เตียง ส่งผลให้ IPD ไตรมาส 2 มีรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ OPD มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากรายได้การตรวจคัดกรองโควิด-19 แม้รายได้ OPD ทั่วไปจะมีผู้เข้าใช้บริการลดลง
ไม่เพียงเท่านี้ ในไตรมาส 2 ยังมีรายได้จากการบริหาร รพ. ราว 65-70 ล้านบาท (รับรู้ เต็มไตรมาส) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่รับรู้ รายได้เพียง 2 เดือน และ CHG มีปัจจุบันมีผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 อยู่ที่ 500 รายต่อวัน ปรับตัวลดลงจากช่วงกลาง เม.ย.20 ที่ราว 1,500 รายต่อวัน ทำให้ปรับเพิ่มกำไรสุทธิปีนี้ขึ้น 21% เป็น 1,179 ล้านบาท และเติบโตอีก 15% เป็น1,202 ล้านบาทในปีหน้า
“ทรีนีตี้” ให้น้ำหนักผนึกแผนโรงแรม
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ประเมิน ธุรกิจของ CHG ว่า EBITDA Margin สูงขึ้น รายได้จากกลุ่มโควิด-19 ลดความผันผวน โดย EBITDA Margin สูงขึ้น รายได้จากกลุ่มโควิด-19 ลดความผันผวน นั่นทำให้ CHG รายงานกำไรสุทธิไตรมาสแรกที่ 252 ล้านบาท สูงขึ้น 32% โดยที่รายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ที่ 1.41 พันล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 7% เช่นเดียวกับรายได้จากกลุ่ม สปสช. ปรับตัวสูงขึ้น 62.6% จาก 78 ล้านบาท เป็น 126 ล้านบาท โดยเติบโตจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาเสริม และการรับส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ
ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบว่ารายได้กลุ่ม A Class OPD อยู่ที่ 475 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากการเข้าร่วมโครงการ ASQ กับโรงแรม 12 แห่ง จำนวนเตียงรองรับ 1,500 เตียง และมีการรับตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ 20,000 ราย แต่รายได้จากกลุ่ม A Class IPD ปรับตัวลดลงเนื่องจากการเลื่อนผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉินออกไปก่อน ทำให้ยังคงคาดรายได้และกำไรปี 2564 จะสามารถเติบโต Double-digit โดยที่การเติบโตจะมาจากรายได้ที่เกี่ยวกับโควิด-19 และรายได้จากการเข้ารับบริหารโรงพยาบาล 2 แห่ง
“เอเชีย เวลท์” เชื่อ Q2 ยอดโควิด-19 ยังสูง
บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด แนะนำ "BUY" ราคาเป้าหมาย 3.90 บาท/หุ้น โดยคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2/64 เติบโตจากปีก่อนและไตรมาสก่อน หนุนจากบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 และ ASQ โดยในช่วงไตรมาสแรก บริษัทให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ได้ราว 20,000 เคส และคาดว่าช่วงไตรมาส 2 จำนวนผู้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริการ Hospitel 4 แห่ง จำนวน 1,600-1,700 เตียงและมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลอีกราว 200-300 เตียง รวมถึงรายได้จากการบริหารโรงพยาบาลภาครัฐ (เกาะล้านและพัทยา) ที่จะรับรู้รายได้เต็มไตรมาสในไตรมาส 2/64 ราว 65-70 ล้านบาท และศูนย์หัวใจสิรินธรที่จะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงเวลาเดียวกัน
ดังนั้น จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 เพิ่ม 17% จากเดิมปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 เพิ่ม 17% เป็น 1,166 ล้านบาท และ 1,269 ล้านบาท (เดิม 995 ล้านบาท และ 1,087 ล้านบาท) ตามลำดับ จากการรับรู้รายได้บริหารโรงพยาบาล 2 แห่ง โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ราว 65-70 ล้านบาทต่อไตรมาส รวมถึงรายได้จากศูนย์หัวใจสิรินธรที่จะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/64 ช่วยหนุนรายได้ทั้งปีให้เติบโต