xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดคริปโตฯ ระอุหนัก หลังจีนประกาศ แบนการใช้คริปโต ฉุด BTC ร่วงแตะ 4 หมื่นเหรียญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุบกระดานเทรดเหรียญทั่วโลกร่วงระนาว หลัง 3 สมาคมการเงินของจีน ประกาศสั่งแบนการใช้เหรียญคริปโตที่ใช้ในการทำธุรกรรม ชี้มีความเสี่ยงเสี่ยงสูงและเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ แม้ว่ามูลค่าตลาดมีขนาดใหญ่เกือบเท่าตลาดทองคำ ขณะเดียวกันรัฐบาลอิหร่าน ก็ได้ออกประกาศห้ามขุด Bitcoin หลังทั่วโลกเพ่งเล็งเริ่มสร้างผลกระทบ 

สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เปิดเผยว่า จากการเปิดเผยของเว็บไซต์ Global Times รายงานว่า 3 สมาคมด้านอุตสาหกรรมการเงินของจีน ประกอบด้วย สมาคมการเงินอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (National Internet Finance Association of China), สมาคมธนาคารจีน (China Banking Association) และสมาคมด้านการชำระเงินและหักบัญชีจีน (Payment and Clearing Association of China) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันในการสั่งให้บรรดาสถาบันการเงินและแพลตฟอร์มการชำระเงินต่างๆในประเทศจีน ระงับการดำเนินการธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีโดยเด็ดขาด แม้ว่าในปัจจุบันนี้มูลค่าของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งได้รับการยอมรับจากในยุโรปและอเมริกาเป็นอย่างมาแต่สำหรับประเทศจีนแล้วมองว่าเป็นอันตรายต่อภาวะเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ทั้ง 3 สมาคมยังได้แถลงการณ์เตือนถึงนักลงทุนในเรื่องของความเสี่ยงที่มาจากการเก็งกำไรสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไม่สามารถใช้จ่ายในฐานะสกุลเงินปกติทั่วไปได้ในปัจจุบัน โดยรายงานระบุว่า ราคาของคริปโตเคอร์เรนซี เช่น BITCOIN หรือแม้กระทั่ง Dogecoin ยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีเสถียรภาพและมีความผันผวนสูงมากอีกทั้งมีความอ่อนไหวมากด้วยเช่นกัน โดยคริปโตเคอร์เรนซีถือได้ว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ และการซื้อขายกันเองโดยตรง หรือ Over-the-Counter Trading ควรถูกยกเลิก และไม่สมควรถูกนำมาใช้หมุนเวียนภายในตลาดการเงิน เพราะแค่เพียงแค่ข่าวกรณี Tesla ระงับการชำระเงินด้วย BTC ก็ทำให้ราคาของ Bitcoin ร่วงหลุด 45,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว

อย่างไรก็ตาม CNBC ได้อ้างอิงรายงานของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Bernstein ในตลาด Wall Street ที่พบว่า มูลค่าตลาดของคริปโตเคอร์เรนซีในขณะนี้มีสูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกือบเทียบเท่าปริมาณของทองคำที่มีการถือครองไว้เพื่อจุดประสงค์ด้านการลงทุน โดย Bernstein ระบุว่า นักลงทุนจำเป็นต้องหากระแสผลตอบแทนที่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ และกระจายความเสี่ยงด้านตราสารหนี้ในระดับที่สูงขึ้นไปของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในกรณีดังกล่าว สินทรัพย์อย่างคริปโตเคอร์เรนซีมีแนวโน้มที่จะสามารถรองรับความจำเป็นที่ว่านี้ได้

ขณะเดียวกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตลาดซื้อขายคริปโตฯ ได้ขยายตัวเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนเข้าสู่ตลาดกระแสหลัก ท่ามกลางแรงสนับสนุนจากบริษัท องค์กร และสถาบันชั้นนำหลายแห่ง ทำให้นักลงทุนต่างๆ เข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตฯ กันมากขึ้นอย่างคึกคัก อีกทั้งยังมีการยกระดับสถานะให้คริปโตฯ เป็นแหล่งสั่งสมความมั่งคั่งที่เชื่อถือได้ และเป็นวิธีการกระจายการลงทุนในพอร์ตสินทรัพย์ของทั้งรายบุคคลและบริษัทต่างๆ

ทั้งนี้ Bernstein ได้ออกมาย้ำว่า แนวทางที่สถานะของคริปโตเคอร์เรนซีจะเทียบเท่าทองคำนั้นคงใช้เวลาอีกยาวไกล เพราะต่อให้มีมูลค่าตลาดที่แทบจะใกล้เคียงกันแล้ว แต่ทองคำกลับมีสถานะที่ต่างออกไปเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการใช้งาน โดย Bernstein ได้ยกตัวอย่างกรณีทองคำในฐานะเครื่องประดับ ซึ่งพบว่าตลาดทองคำในฐานะอัญมณีเครื่องประดับ (Jewelry) ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสุทธิ 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใหญ่กว่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซีถึงกว่า 4 เท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้น คริปโตเคอร์เรนซีแต่ละตัวยังมีความแตกต่างกันออกไป โดย Bernstein กล่าวว่า บิตคอยน์ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่เก็บมูลค่า ในขณะที่สกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เช่น Ethereum มีฟังก์ชันการทำงานที่มากกว่าเพียงแค่การถือเพื่อใช้เป็นการลงทุน

ขณะเดียวกันรัฐบาลอิหร่าน ก็ได้ออกประกาศห้ามขุด Bitcoin ภายในครัวเรือน แม้ว่าในปี 2019 รัฐบาลอิหร่านได้มีการอนุมัติให้การขุดคริปโตฯ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรของสหรัฐฯ แต่ต่อมาอิหร่านได้กลายเป็นประเทศล่าสุด ที่ห้ามประชาชนในประเทศขุดบิทคอยน์ในครัวเรือน โดยรัฐบาลอิหร่านให้เหตุผลว่าการขุดในภาคครัวเรือน จะสร้างภาระให้กับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ และกระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการที่จะกำหนดค่าปรับสำหรับการขุดบิทคอยน์

อย่างไรก็ตามการห้ามขุดบิทคอยน์เกิดขึ้นพร้อมกับที่ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนได้เผยแพร่แผนการประมูลพลังงานไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ต้องการทำเหมืองคริปโต โดยการใช้พลังงานจากผู้ผลิตเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงข่ายไฟฟ้าในระดับประเทศ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของการอนุมัติการประมูลพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นการหารายได้จากการขุดบิทคอยน์ที่นักขุดทั้งหมดจะต้องจ่ายภาษีการขุดเหมืองคริปโตฯให้กับรัฐบาล และด้วยการประมูลพลังงานจะทำให้นักขุดทุกคนต้องมีการลงทะเบียน รวมถึงการยื่นผลตอบแทนที่ได้จากการขุด ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลอิหร่าน เป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกที่ต้องการจะตรวจสอบการเติบโตของบิทคอยน์หลังจากที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในวงกว้าง

ทั้งนี้ตามความพยายามส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีหรือบิทคอยน์มากนัก เนื่องจากบิทคอยน์ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเอาชนะการตรวจจับและการควบคุมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าอิทธิพลของบิทคอยน์ที่กำลังขยายตัวนั้นสร้างความไม่พอใจต่อทางการ

อย่างไรก็ดี จากกระแสการออกมาแถลงของ 3 สมาคมของจีน ทำให้เช้านี้ (19 พฤษภาคม) ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี เกิดแรงเทขายออกมาอย่างหนักอีกระลอก โดยราคาบิตคอยน์เช้าวันนี้ปรับลดลงแตะระดับ 40,000 ดอลลาร์ มาเคลื่อนไหวที่ระดับ 40,200 ดอลลาร์ ลดลงจากวันก่อนหน้า 10.6%, ราคาเหรียญ Ethereum ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,087 ดอลลาร์ หรือลดลงมาราว 9.35%, ราคาเหรียญ XRP เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1.47 ดอลลาร์ ลดลง 3.58% และราคาเหรียญ Dogecoin ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 0.426 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลง 13.3%


กำลังโหลดความคิดเห็น