xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยกรุงศรีลดเป้า GDPโต 2.0% ผลกระทบโควิด-19 แรงกว่าคาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิจัยกรุงศรีมีความเห็นต่อเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ที่ -2.6% YoY คาดทั้งปีขยายตัว 2.0% GDP โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ -4.2% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน และหดตัวน้อยกว่าที่วิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ -3.3% จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายรัฐบาลและการเติบโตเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวอีกครั้ง หลังการระบาดอีกระลอก แต่มาตรการเยียวยาของรัฐช่วยพยุงการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมิให้ทรุดแรง

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เป็นขยายตัว 2.0% จาก 2.2% ผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน โดยจากแบบจำลองสถานการณ์การระบาดล่าสุด (ข้อมูลถึงวันที่ 17 พฤษภาคม) คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันกว่าจะปรับลดลงมาต่ำกว่า 100 ราย อาจเป็นในช่วงเดือนสิงหาคม ช้าลงจากเดิมเคยคาดไว้ต้นเดือนกรกฎาคม ดังนั้น กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคเอกชนอาจถูกจำกัดมากขึ้น รวมถึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปีนี้มีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 3.3 แสนคน แม้เศรษฐกิจไตรมาสแรกที่หดตัวน้อยกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของภาคส่งออกในปี 2564 มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศแกนหลัก และหนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ปัจจัยบวกเหล่านี้จะช่วยลดแรงกระทบจากผลเชิงลบที่เพิ่มขึ้นในการคาดการณ์ล่าสุด ทางด้านสภาพัฒน์ฯ ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 เป็น 1.5- 2.5% จากเดิมคาด 2.5-3.5%

ทั้งนี้ จากการพบการระบาดเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล วิจัยกรุงศรีได้ทบทวนประมาณการแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันอีกครั้ง โดยใช้ข้อมูลล่าสุดถึง ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 จำแนกเป็น 3 กรณีด้วยกัน คือ กรณีแรก หากสามารถคุมการระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ได้ จำนวนสูงสุดของผู้ติดเชื้อใหม่จะยังอยู่ในเดือนพฤษภาคม (เช่นเดียวกับคาดการณ์เดิม) แต่กว่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 100 รายต่อวันล่าช้าขึ้นเป็นปลายเดือนกรกฎาคม (จากเดิมต้นเดือนกรกฎาคม)

กรณีที่สอง หากไม่สามารถคุมการระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ได้ จำนวนสูงสุดของผู้ติดเชื้อจะอยู่ราวปลายเดือนพฤษภาคม และจะใช้เวลามากขึ้นกว่าจะปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 100 รายต่อวัน เป็นในปลายเดือนสิงหาคม

และกรณีเลวร้ายสุด หากมีการระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องในเขตกรุงเทพฯ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และอาจทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงขึ้นแตะระดับ 3 แสนกว่ารายในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยวิจัยกรุงศรีคาดความเป็นไปได้ของสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อจะอยู่ในช่วงระหว่างกรณีที่ 1 และกรณีที่ 2

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก แม้อัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นในสหรัฐฯ และจีน แต่คาดว่าธนาคารกลางยังใช้นโยบายผ่อนคลายต่อไป ส่วนการฟื้นตัวของญี่ปุ่นอาจเผชิญแรงกดดันจากการระบาดรอบใหม่ วิจัยกรุงศรีมองว่าเฟดมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ส่วนแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อนั้นเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวและยังห่างจากเป้าหมายระยะยาว ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องสะท้อนจากจำนวนการเปิดรับสมัครงานเดือนมีนาคมแตะ 8.12 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่จำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พฤษภาคมลดลงสู่ระดับ 4.73 แสนรายต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.2% พุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551


กำลังโหลดความคิดเห็น