กรุงศรี ฟินโนเวต ผู้สนับสนุนและลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมและสตาร์ทอัปทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค เผยกลยุทธ์การดำเนินงานปี 2564 มุ่งเสริมสร้าง Ecosystem ต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรสตาร์ทอัป ลงทุนต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ มองเป้าหมายระยะยาวร่วมผลักดันกรุงศรีสู่ดิจิทัลแบงก์อย่างเต็มตัว รวมถึงการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและไอที ด้วยงบลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2 ปี (2564-2565)
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 5 และประสบความสำเร็จเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มเดิมทีที่ส่งเสริมสตาร์ทอัปไทยในด้าน FinTech ขยายสู่สตาร์ทอัปในทุกสาขา จนปัจจุบัน กรุงศรี ฟินโนเวต กำลังทำงานร่วมกับสตาร์ทอัปกว่า 50 บริษัท กว่า 100 โปรเจกต์ และส่งเสริมการทำงานด้านดิจิทัลของกรุงศรีและบริษัทในเครือถึง 35 หน่วยธุรกิจ
นอกจากนี้ กรุงศรี ฟินโนเวต ได้มีโครงการที่สนับสนุนสตาร์ทอัปไทยให้ก้าวไกลได้กว่าเดิม เช่น โครงการ Meet the Angels ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัปไทยได้นำเสนอแผนธุรกิจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มีนักลงทุนเข้าร่วมกว่า 170 คน และทำให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัปหลายราย นอกจากนั้น ยังมี Meet the Angels Sandbox ที่เป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัปสำหรับกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้น (Early-stage startups) หรือแม้แต่การสนับสนุนส่งเสริมให้พนักงานในกรุงศรีเองได้พัฒนาศักยภาพ นำเสนอไอเดียและเข้ารับการพัฒนาเพื่อที่จะผันตัวมาเป็นสตาร์ทอัปได้ ภายใต้ชื่อ กรุงศรี ยูนิคอร์น (Krungsri Unicorn) พนักงานที่นำเสนอไอเดียและแผนธุรกิจและได้รับการคัดเลือก จะได้รับโอกาสในการเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัป (Startup Founder) ทำโครงการให้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากกรุงศรี ทั้งในด้านเงินทุน ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจ ทั้งหมดเหล่านี้เอง ทำให้กรุงศรี ฟินโนเวตได้รับโหวตให้เป็นบริษัทลงทุนที่สตาร์ทอัปอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด ภายใต้รางวัล “The Best Startup Synergy Awards 2021” จาก Techsauce ซึ่งถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จที่กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปี 2564 นี้ กรุงศรี ฟินโนเวต ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตผ่านการลงทุนในสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพ แต่ยังเน้นไปที่การเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนการปรับตัวของธนาคารกรุงศรีสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์อย่างเต็มตัว โดยมุ่งเดินหน้ากลยุทธ์การดำเนินงาน ดังนี้
(1) การมุ่งสร้างและสนับสนุนสตาร์ทอัปในทุกระดับ และสร้าง Ecosystem ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (Venture Builder and Ecosystem) ผ่านโครงการ Meet the Angels, Meet the Angels -Sandbox และ Krungsri Unicorn และการสร้างชุมชนสตาร์ทอัป
(2) การร่วมทำงานกับสตาร์ทอัปในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partnership) โดยกรุงศรี ฟินโนเวตจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงสตาร์ทอัปกับหน่วยธุรกิจภายใต้กรุงศรี กรุ๊ป โดยจะเน้นทำงานร่วมกับสตาร์ทอัปที่สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจของกรุงศรีในเรื่องการลดต้นทุน การสร้างรายได้ การสร้างนวัตกรรม และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล
(3) การลงทุนต่อเนื่อง (Investment) โดยเน้นเพิ่มการลงทุนในสตาร์ทอัปซีรีส์ A ขึ้นไปด้านฟินเทค อีคอมเมิร์ซ พรอพเทค และ AI ในไทยและอาเซียน ด้วยลงเงินทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่สำคัญจะต้องเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาให้บริษัทได้
นายแซม กล่าวอีกว่า แนวโน้วการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในอนาคตนั้น นอกจากการแข่งขันกับธนาคารด้วยกันเองแล้ว ยังมี NEO Bank ก็เป็นอีกหนึ่งที่มาแรงและเริ่มขยายเข้าสู่ประเทศไทยมาแล้ว โดยขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องใบอนุญาต ดังนั้น การขับเคลื่อนธนาคารเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคาดว่า NEO Bank จะเริ่มเข้ามาในไทยในไม่เกิน 2 ปีนี้ ทำให้เราต้องเร่งเดินหน้าเพื่อที่จะรับกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น
"ปี 2020 ที่ผ่านมา กรุงศรี ฟินโนเวตได้ลงทุนใน Grab, ICON Framework, Ricult, Flash, Appman ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่เพียงมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจต่างๆ ของกรุงศรี กรุ๊ปในการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมได้ เราจะยังคงเดินหน้าต่อ โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นที่สตาร์ทอัปที่เชื่อมโยงกับธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจที่อยู่อาศัย และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ด้วยเงินทุนกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตั้งเป้าว่าจะมีโปรเจกต์ร่วมกับสตาร์ทอัปในกลุ่มดังกล่าวรวมไม่ต่ำกว่า 120 โปรเจกต์ในปี 2021 นี้"