กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.35-31.65 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 31.40 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 31.25-31.51 บาท/ดอลลาร์ โดยช่วงท้ายสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 7 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดในประเทศระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโรและเยน ขณะที่บันทึกการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และความเห็นของประธานเฟดเน้นย้ำว่ายังไม่ใกล้ถึงเวลาของการลดทอนมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยประธานเฟดเห็นว่าการปรับตัวสูงขึ้นของราคาและอัตราเงินเฟ้อในปีนี้อาจจะเป็นเรื่องชั่วคราว และไม่ได้สร้างแรงกดดันให้เฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ เฟดยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงานซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาค่อนข้างผสม และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ย่อตัวลง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 2,089 ล้านบาท และ 5,163 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ นอกจากนี้ สุนทรพจน์ของประธานเฟดและจีดีพีไตรมาส 1/64 ของจีนอาจส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนได้เช่นกัน อนึ่ง กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีตั้งข้อสังเกตว่าแรงส่งด้านขาขึ้นของเงินดอลลาร์ในตลาดโลกเริ่มมีสัญญาณแผ่วลงบ้างสะท้อนจากการปรับตัวในลักษณะย่ำฐานของทั้งค่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลการจ้างงานที่ออกมาดีเกินคาด ขณะที่ยอดการติดเชื้อในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาขยับขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะนี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินเศรษฐกิจไทยปี 64 อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 3.0% หลังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ และยังมีจุดเปราะบาง โดยความเสี่ยงสำคัญหลัก ได้แก่ การระบาดของโรคที่อาจจะกลับมาได้ทุกเมื่อ การกลายพันธุ์ของไวรัส และประสิทธิผลของวัคซีน ขณะที่ทางการมองเงินบาทจะอ่อนค่าลงในระยะสั้น และในระยะถัดไปยังผันผวน โดย ธปท.จะดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ผู้ดำเนินนโยบายเห็นว่าความจำเป็นของการใช้มาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนยังมีค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีประเมินว่าตลาดยังคงกังวลกับความเพียงพอด้านระบบสาธารณสุข การกระจายวัคซีน รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นเป็นสำคัญ ซึ่งความไม่แน่นอนสูงของสถานการณ์มีแนวโน้มกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนกว่าจะเกิดความชัดเจน