ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดบทวิเคราะห์ธนาคารพาณิชย์ไทยว่า อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของธนาคารพาณิชย์ไทยรายใหญ่ 5 แห่ง มีปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศ ซึ่งช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรและสะสมเงินกองทุนได้อย่างต่อเนื่องตลอดวัฏจักรเศรษฐกิจ (through the cycle)
โดยธนาคารทั้ง 5 แห่ง สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงได้อย่างต่อเนื่องและมีผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลาย อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารยังสะท้อนถึงอัตราส่วนทางการเงินด้านคุณภาพสินทรัพย์และด้านกำไรที่อยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าเกณฑ์ของฟิทช์ (Fitch's financial benchmark) อีกทั้งอัตราส่วนทางการเงินของธนาคารยังได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ไม่คาดว่าจุดอ่อนดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิตในระยะอันใกล้นี้ เนื่องจากธนาคารยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง เช่น ด้านระดับเงินกองทุนและระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
ทั้งนี้ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ('BBB'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'bbb') ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank ('BBB'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'bbb') ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ('BBB'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'bbb') และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ('BBB'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'bbb-') สะท้อนถึงความสำคัญในระดับสูงของธนาคารทั้ง 4 แห่งต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ ในขณะที่อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ BBL, KBank และ SCB อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของแต่ละธนาคาร ซึ่งช่วยให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารอาจไม่ถูกปรับลดอันดับในกรณีที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินถูกปรับลดอันดับ สำหรับ KTB อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารมีปัจจัยสนับสนุนมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ('BBB+'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'bbb') สะท้อนถึงการสนับสนุนช่วยเหลือจากสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทแม่ ซึ่งคือ MUFG Bank,Ltd. ('A-'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)