“อาคม” สั่ง ก.ล.ต.พัฒนาระบบป้องกันภัยทางไซเบอร์และสร้างระบบเตือนภัยให้แก่นักลงทุน เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจต่อตลาดทุนไทย พร้อมจี้คณะกรรมการตรวจเข้มผู้กระทำผิด พ.ร.บ.การลงทุนต่างๆ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงปาฐกถาในหัวข้อการพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วันนี้ (24 มี.ค.) โดยกล่าวว่า เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนดิจิทัลสมบูรณ์ จึงอยากฝาก 2 เรื่องเล็กแต่เป็นเรื่องใหญ่ คือ ไซเบอร์ซิเคียวริตี และการสร้างสภาวะไซเบอร์รีไซเรนให้แก่ตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งสมัยก่อนนั้นจะเน้นเรื่องการป้องกัน โดยเฉพาะการคุกคามด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี หรือการแฮกข้อมูลต่างๆ แต่ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นสามารถใช้ระบบป้องกันสิ่งที่ผิดปกติ อาจจะใช้ระบบเอไอเข้ามาจับก็ได้ เช่น เราใช้เอไอเข้ามาจับผู้กระทำความผิดในโครงการคนละครึ่ง หรือเราชนะ เป็นต้น
อีกประเด็นคือ เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเรื่องนี้จะต้องให้ความยินยอม เรื่องนี้ ส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยดูเท่าไหร่ ด้วยความที่เวลาลงทะเบียนและอยากใช้สิทธิก็จะกดยอมรับไว้ก่อน เช่น คุกกี้ ไม่มีการรายละเอียด ก็กดยอมรับ มาพบภายหลัง และบอกว่าไม่รู้ข้อกฎหมายคืออะไร เป็นกรณีที่เราพบว่า หลังจากที่การใช้สิทธิหมดไป แต่ 2-3 ปีย้อนหลังเขาให้สิทธิในการเรียกร้องเรื่องการคืนภาษี เป็นต้น แต่หมดสิทธิเพราะไม่รู้ข้อกฎหมาย เพราะไม่รู้ว่าภายใน 3 ปีเรียกร้องได้ เมื่อเลยเวลาแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้ ฉะนั้น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นคิดว่าจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย
เขากล่าวด้วยว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รุนแรง ทำให้ทุกภาคส่วน รวมถึง ภาคประชาชนที่ต้องเรียนรู้ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กระทรวงการคลังก็ปรับตัวและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้นโยบายหลายด้าน โดยเฉพะการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการคลัง โดยเฉพาะในช่วงปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีที่เราประสบปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นปีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับประชาชน ธุรกิจ ราชการและระหว่างประเทศ
แต่สิ่งหนึ่งหนึ่งที่เห็น คือ การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในมาตรการภาครัฐ จะเห็นเรื่องการปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง ได้แก่ การจัดทำหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ การขอออกหนังสือสินเชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ผ่านระบบการจัดเก็บภาษีออนไลน์ การพัฒนาระบบการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลผ่านระบบบาทบอนด์
"เรียนว่าการออกบอนด์ของรัฐบาลในปีที่แล้วและปีนี้ เช่น กรีนบอนด์ ได้รับการยอมรับในตลาดหลักทรัพย์ในยุโรป โดยเฉพาะลักเซมเบิร์ก กรีนบอนด์เราได้รับรางวัลด้วย เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายภาครัฐที่มุ่ง 3 เรื่อง คือ ดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และ สุขภาพ"
ส่วนนโยบายในการพัฒนาตลาดทุนเข้าสู่ยุคดิจิทัลและเป็นกลไกที่จะรองรับการแข่งขันของประเทศ ซึ่งสิ่งที่กระตุ้นให้เราปรับตัวอย่างรวดเร็ว คือ ภาวะโควิด-19 ซึ่งทำให้เรามานั่งคิดใหม่ว่า วิธีการใช้ทรัพยากรของประเทศนั้นต้องใช้อย่างระวังและต้องบริหารความเสี่ยงและใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ที่เราเห็นในปีที่แล้ว คือ เรื่องเทคโนโลยีด้านคมนาคม โดยเรื่อง 5G เป็นเรื่องหลักของอีอีซีโดยมีการติดตั้งระบบเสาสัญญาณได้แล้ว 80-90% ฉะนั้น เรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมาก่อนแล้ว เพียงแต่เราจะใช้ประโยชน์ตรงนี้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องคิด
ในมุมมองเชิงนโยบายระดับประเทศ ซึ่งหลักคิดต่อเศรษฐกิจดิจิทัล คือ การที่เศรษฐกิจและสังคมขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของระบบทั้งในระดับประเทศ ธุรกิจและประชาชน ซึ่งภาครัฐสามารถผลักดันให้เกิดองค์ประกอบใน 4 ด้าน คือ 1.การพัฒนากฎหมายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน เพื่อเป็นมาตรฐานรองรับอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการทำธุรกรรมต่างๆ 2.การยกระดับการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐให้อยู่ดิจิทัล 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4.การส่งเสริมและยกระดับบุคลากรซึ่งต้องมีขีดความสามารถในเรื่องเทคโนโลยี
"มาตรการของรัฐ ซึ่งหลายโครงการจะเห็นว่า เราใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมด ไม่ว่าลงทะเบียน ซื้อขาย จ่ายตังค์ผ่านถุงเงินในกระเป๋า สามารถคุมการใช้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน ใช้ดิจิทัลทั้งหมดในการอำนวยความสะดวก"
ส่วนของตลาดทุนนั้น กระทรวงการคลังได้ฝากโจทย์ให้ ก.ล.ต.ใน 5 นโยบาย คือ 1.การใช้กลไกหรือเครือข่ายของตลาดทุนหนุนกิจการที่ประสบปัญหาโควิด-19 ให้เดินต่อไปได้ 2.การสร้างระบบการเข้าถึงระบบการเงินและตลาดทุนที่เท่าเทียมกันของประชาชนและธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเล็ก
3.การเสริมศักยภาพตลาดทุน โดยปรับปรุงกฎหมายและกฎเหล็ก เพื่อปรับปรุงให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. ซึ่งขณะนี้มีปรากฏการณ์ 2-3 เรื่องที่ขอให้ ก.ล.ต.ช่วยนำเสนอเรื่องกำกับดูแลที่เข้มข้น คือ ดิจิทัลแอสเซส และคริบโตเคอร์เรนซี 4.สนับหนุนให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนของกิจการที่เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล ซึ่งเรื่องธรรมาภิบาลนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่ถามกันมากในเวทีต่างๆ
5.การผลักดันให้ตลาดทุนรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลมาปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุนไทย รวมทั้งการส่งเสริมระดมทุนดิจิทัลในรูปแบบซิเคียวริตีโทเคนออฟเฟอริ่ง ด้วยการปรับกฎเกณฑ์ให้รองรับการระดมทุนรูปแบบดังกล่าว เรื่องนี้ ก.ล.ต.และทุกภาคส่วนได้ทำการบ้านใช้เวลาปีกว่าๆ ถือว่าเร็ว โดยมีตัวเร่งสำคัญ คือ โควิด-19
ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตลาดทุน เป็นหนึ่งในแผนที่เราเพิ่มเติมในแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 3 ปี 2560-2564 โดยโครงสร้างพื้นฐานนั้นมีหลายเรื่องทั้งการแก้ไขกฎหมาย หรือกติกาที่ต้องเข้ม กรรมการ ก.ล.ต.ต้องเข้มในการตรวจจับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ต่างๆ