EIC SCB ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยโต 2.6% จากเดิม 2.2% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นเร็ว หนุนส่งออก แต่การท่องเที่ยวยังขึ้นอยู่กับการกระจายของวัคซีน แนะรัฐเร่งแก้แผลเป็นเศรษฐกิจหนุนโตยั่งยืน
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence center ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) กล่าวว่า EIC SCB ปรับประมาณจีดีพีไทยปี 2564 เติบโตที่ระดับ 2.6% จากเดิมที่ 2.2% โดยปัจจัยหลักๆ มาจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตได้สูงกว่าคาดการณ์ที่ 5.6% จากเดิมที่ 5.0% ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยที่ได้ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเป็น 6.4% จากเดิมที่ 4.0% รวมถึงอุปสงค์ในประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ส่วนภาคการท่องเที่ยวนั้น EIC SCB ยังคงประมาณการเดิมที่ 3.7 ล้านคน โดยแม้ว่าจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่อัตราการฉีดที่กระจายไปได้สูงส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียที่เป็นกลุ่มหลักของไทยน่าจะกลับเข้ามาได้มากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ทำให้จีดีพีของไทยยังอยู่ในกลุ่มฟื้นตัวช้า และมาตรการเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีบทบาทสำคัญ แต่ควรเจาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะปรับตัวเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในปลายปี 2565 หรือต้นปีถัดไป
"ปัจจัยหลักที่จะเข้ามากระทบจีดีพีขณะนี้ที่ต้องติดตามเป็นการกระจายของวัคซีน ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายในการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งประเทศเราและประเทศต้นสาย ซึ่งอาจจะใช้วัคซีนพาสปอร์ต หรือการฉีดวัคซีนเฉพาะพื้นที่ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากๆ แต่ก็ยังมีความก้งวลในเรื่องของโควิด-19 สายพันธุ์กดดันอยู่อีกเช่นกัน"
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ยังน่าเป็นห่วงกรณีของตัวเลขการว่างงานที่ระดับ 1.5% หรือคิดเป็น 1.5 แสนคนนั้น ถือเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่ยังมีตัวเลขการตกงานแฝงอีกในกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ รวมถึงกลุ่มที่มีรายได้ลดลง หรือกลุ่มที่มีชั่วโมงทำงานลดลงต่ำกว่า 35 ชั่วโมงมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1.9 ล้านคน รวมถึงตัวเลขการเปิดกิจการเพิ่มที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมา 3 ปี โดยปี 63 ปรับตัวลดลง 11% ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างในระยะยาว
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสนใจเข้ามาสนับสนุนเป็นเรื่องการเยียวยาเฉพาะกลุ่มตรงจุดให้มากขึ้น การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัป ให้มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆเพิ่มขึ้น และการให้ความรู้หรือทักษะ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีให้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจในระยะยาว โดย EIC SCB คาดการณ์หนี้ครัวเรือนจะเข้าสู่ระดับสูงสุดในครึ่งแรกของปีนี้ที่ 88-90% จากปัจจุบันที่ 86.6% ซึ่งหากครัวเรือนไม่มีการซ่อมแซมงบดุลของตนเองด้วยการมีวินัยทางการเงินให้หนี้ครัวเรือนลดลง จะส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลง สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยได้ยากขึ้น และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในที่สุด
ด้านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์คงในระดับเดิมที่ 0.5% ตลอดปีนี้ ควบคู่กับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อจำเป็นเพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาดเงินให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาดเงินให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 คาดการณ์แนวโน้มอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเป็นสำคัญ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเร็วกว่าประเทศอื่นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
"ผมเป็นห่วงเรื่องในระยะยาวมากกว่าเรื่องปีนี้จะโตเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการว่างงาน การจดทะเบียนธุรกิจใหม่ที่ลดลง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูง พวกนี้ถือเป็นแผลเป็นของเศรษฐกิจไทย ซึ่งภาครัฐต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนพวกสตาร์ทอัปที่จะนำพานวัตกรรมใหม่เข้ามา การ Re Skill เพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มความสามารถให้แก่เอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนใหม่ ซึ่งจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน"