กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.35-30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังซื้อขายในช่วง 30.20-30.52 บาทต่อดอลลาร์าหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินภูมิภาคและแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 4 เดือน ท่ามกลางแรงขายพันธบัตรทั่วโลกและราคาทองคำที่ดิ่งลง ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อชะลอการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ สร้างความผิดหวังให้แก่นักลงทุนบางส่วน ขณะที่ประธานเฟดเน้นย้ำว่าจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไป ส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.พ.ที่สดใสเกินคาดหนุนค่าเงินดอลลาร์ขึ้นต่อเนื่อง โดยเงินเยนและเงินยูโรซื้อขายที่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือนและ 3 เดือนตามลำดับ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย มูลค่า 6,600 ล้านบาท และ 2,900 ล้านบาทตามลำดับ
โดยปัจจัยชี้นำหลักยังอยู่ที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ หลังตัวเลขจ้างงานบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง ตามมาด้วยการผ่านแผนเยียวยาทางการคลังของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ปรับตัวขึ้นมารอก่อนหน้านี้แล้วสะท้อนจากภาวะตลาดพันธบัตร แต่ระหว่างสัปดาห์นี้นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ของสหรัฐฯและการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)ในวันที่ 11 มี.ค. ซึ่งภาวะเช่นนี้กรุงศรีคาดว่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อไปในระยะสั้น ก่อนการประชุมเฟดวันที่ 16-17 มี.ค.
สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน ก.พ. ลดลง 1.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลของมาตรการลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเวลา 2 เดือน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า หากไม่รวมผลจากมาตรการลดค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ.จะติดลบ 0.12% อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นการติดลบเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.04% ในเดือน ก.พ. โดยทางการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 เรามองว่าเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจสะท้อนฐานเปรียบเทียบที่ต่ำและต้นทุนน้ำมันดิบ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ฟื้นตัวช้าจะยังคงฉุดรั้งเงินเฟ้อที่มาจากแรงกดดันด้านอุปสงค์