xs
xsm
sm
md
lg

BLCP จับมือภาครัฐและชุมชนในพื้นที่ฟื้นฟูระบบนิเวศ “หญ้าทะเล” บริเวณเกาะสะเก็ด จ.ระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ครั้งแรกใน จ.ระยอง “โครงการศึกษาวิจัยปลูกหญ้าทะเล” เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรบริเวณเกาะสะเก็ด จ.ระยอง ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก และเทศบาลเมืองมาบตาพุด ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง

เกาะสะเก็ด หรือที่เรียกขานกันมาแต่เดิมว่า “เกาะสะเก็ดเพชร” เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 30 ไร่ อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีประมาณ 500 เมตร เคยเป็นแหล่งปะการังที่ขึ้นชื่อของประเทศไทย แต่เนื่องจากปะการังบริเวณนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของชนิดและปริมาณ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ได้ให้ความสำคัญการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น มีความต้องการที่จะทำให้ จ.ระยอง เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่1 (สทช.ที่ 1) ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เทศบาลเมืองมาบตาพุดและชุมชนในพื้นที่ เพื่อช่วยกันฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลของเกาะสะเก็ดให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม จึงได้เกิดโครงการ “ทดลองปลูกหญ้าทะเล” นี้ขึ้น

นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า “เมื่อปีที่ผ่านมา (2563) บริษัทฯ ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก และกลุ่มประมงเรือเล็กปากคลองตากวน ทำการฟื้นฟูหญ้าทะเลแบบแยกกอพันธุ์จากธรรมชาติ นำไปปลูกบริเวณเกาะสะเก็ด โดยหญ้าทะเลที่นำไปปลูกเพื่อฟื้นฟู คือ หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule Pinifolia) จำนวน 400 กอ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ในปีนี้ (2564) บริษัทฯ จึงได้จัดทำโครงการปลูกหญ้าทะเลต่อเนื่องในเฟส 2 โดยขยายพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลเพิ่มอีกจำนวน 6,400 กอ หรือประมาณ 4 ไร่ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรบริเวณเกาะสะเก็ดและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลต่อเนื่อง”

"หญ้าทะเล" ทำหน้าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย อนุบาลตัวอ่อน แหล่งหากิน และแหล่งหลบซ่อนศัตรูของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะปลาทะเล กุ้งทะเล และปูม้า แหล่งหญ้าทะเลกับแนวปะการังนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง เช่น สนับสนุนธาตุอาหารไหลเวียนไปมาระหว่างระบบ อีกทั้งยังเป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญ โดยชาวประมงได้นำสัตว์ทะเลที่พบในแหล่งหญ้าทะเลเหล่านี้มาบริโภคและซื้อขายในท้องตลาด ส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น