xs
xsm
sm
md
lg

“วราวุธ” มอบปะการังเทียมให้กับเครือข่ายชุมชน พร้อมนำทีมดำน้ำสำรวจฐานเกาะตัวอ่อน-ปะการังเทียมรูปทรงโดม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.ทส.มอบปะการังเทียมให้กับเครือข่ายชุมชน มั่นใจชุมชนคือกำลังสำคัญ พร้อมนำทีมดำน้ำสำรวจฐานเกาะตัวอ่อนปะการัง และปะการังเทียมรูปทรงโดม จ.พังงา

วันนี้ (26 ก.พ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) นำทีมผู้บริหาร ทส. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยเหลือแก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จ.พังงา พร้อมเป็นประธานมอบปะการังเทียมให้กับเครือข่ายชุมชน จ.พังงา เพื่อสนับสนุนงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งได้นำปะการัง 3D Cement Printing จัดวางใต้ท้องทะเล เป็นเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำใน จ.พังงา ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายวราวุธ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานมอบปะการังเทียมให้กับเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ จ.พังงา ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งในวันนี้ (26 ก.พ.) ตนตั้งใจลงพื้นที่เขาหลัก จ.พังงา เพื่อติดตามแหล่งปะการังธรรมชาติและจุดจัดวางปะการังเทียม ซึ่งจากรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทราบว่า จ.พังงา มีพื้นที่แนวปะการังประมาณ 26,126 ไร่ สภาพแนวปะการังส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย ทั้งจากกิจกรรมมนุษย์และโดยธรรมชาติ ซึ่งทาง ทช. ได้ติดตามและฟื้นฟูมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดวางปะการังเทียม ซึ่งในพื้นที่เขาหลัก จ.พังงา นั้น ได้เริ่มดำเนินการจัดวางปะการังเทียมรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งผลก็เป็นที่น่าพอใจ พบสัตว์ทะเลเข้ามาอยู่อาศัย ปะการังมีพื้นที่ยึดเกาะและอยู่อาศัย รวมทั้ง เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ และเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวให้กับจังหวัด อย่างไรก็ตาม ภายหลังการจัดวางการดูแลต่อจากนั้น ก็ต้องอาศัยชุมชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการช่วยกันดูแลรักษา ดังนั้น การจัดงานในวันนี้ เหมือนเป็นการส่งมอบปะการังเทียมให้กับชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแล ซึ่งตนเชื่อมมั่นว่า พี่น้องประชาชนในพื้นที่สามารถดูแลรักษาได้อย่างแน่นอน

“ปะการังเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหว อ่อนแอ ต้องการสภาพแวดล้อมที่เฉพาะเหมาะสม การดูแลปะการังไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากเข้าใจในธรรมชาติของปะการังชุมชน คือ กำลังเสริมที่สำคัญของธรรมชาติ ที่จะช่วยปกป้องดูแลปะการังให้คงอยู่อย่างยั่งยืน”

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับวันนี้ตนได้ร่วมดำน้ำกับเจ้าหน้าที่ เพื่อสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศปะการังใต้ทะเล รวมถึง สังเกตการณ์การจัดวางฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 3D Cement Printing จำนวน 7 ชุด และปะการังเทียมรูปทรงโดม เพื่อเป็นการส่งเสริมพื้นที่ท่องเที่ยวดำน้ำ ลดผลกระทบความเสียหายของแนวปะการังจากกิจกรรมดำน้ำ และเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดพังงา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำระดับโลก อีกด้วย

ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับหลายภาคส่วนในการบูรณาการการทำงาน รวมถึง การพัฒนานวัตกรรมในงานด้านการฟื้นฟูปะการัง ซึ่งที่ผ่านมา ทช. ได้ดำเนินการจัดทำและวางปะการังเทียมโดยใช้วัสดุหลากหลายรูปแบบ สำหรับครั้งนี้ ทช. ร่วมมือกับบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเทคโนโลยี 3D Cement Printing มาดำเนินการออกแบบและทดลองวัสดุคอนกรีต สำหรับนำไปใช้ในงานด้านการฟื้นฟูปะการรังธรรมชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่มีความกลมกลืนเสมือนจริงใกล้เคียงกับธรรมชาติ จัดวางในพื้นที่เขาหลัก จ.พังงา นอกจากนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ได้มีแนวนโยบายให้กรมฯ ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความพร้อมและมีแนวคิดในการอนุรักษ์ฟื้นฟูปะการัง ร่วมศึกษาและดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

นายโสภณ กล่าวต่อว่า สุดท้ายนี้ กรมฯ ต้องขอขอบคุณพันธมิตรทั้ง 2 องค์กร ที่ร่วมศึกษา วิจัย และสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับกรมฯ มาอย่างดีโดยตลอด ซึ่งกรมฯ ได้วางแผนการทำงานอย่างต่อเนื่อง บนฐานความร่วมมือและการรับรู้ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืนตลอดไป

ส่วน นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solution Business บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด กล่าวถึงแนวคิดในความร่วมมือพัฒนารูปแบบวัสดุฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในครั้งนี้เป็นอีกแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย ด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing “เอสซีจี มุ่งสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด Passion for Better Green Society” อันเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ผ่านการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทาง CE-Circular Economy สำหรับครั้งนี้ ได้นำเอาเทคโนโลยีการขึ้นรูป 3D Cement Printing ร่วมกับการพัฒนาสูตรปูนซีเมนต์ขึ้นเอง ด้วยวิธีการฉีดขึ้นรูปเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังธรรมชาติ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ประเทศไทยจะใช้เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของไทย คืนความสมบูรณ์ให้แหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์ทะเล หรือต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาเป็นแหล่งปะการังทดแทนสำหรับการท่องเที่ยว ลดการรบกวนปะการังธรรมชาติให้มากที่สุด 












กำลังโหลดความคิดเห็น