xs
xsm
sm
md
lg

เคแบงก์ไพรเวทฯ ชี้ 3 เทรนด์กลุ่มมั่งคั่ง-ดิจิทัล-การลงทุน-กระแส ESG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ร่วมกับ Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) และพันธมิตรทางธุรกิจทั้ง 5 รายในภูมิภาคเอเชีย เผยผลสำรวจล่าสุด ‘สานสัมพันธ์ เปลี่ยนผ่าน และพลิกโฉม : การเข้าถึงผู้มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาคเอเชีย ในยุค New Normal’ ซึ่งศึกษามุมมองและข้อกังวลของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง (UHNWIs) และผู้นำธุรกิจ โดยการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง 150 รายในหลากหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน ครอบคลุมมุมมองในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี การลงทุน ครอบครัว และความยั่งยืน

นายวินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner and Chief Executive Officer, Asia, Lombard Odier
กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงในด้านการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล โดย 81% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียกล่าวว่า ‘การติดต่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และลดการพบปะกันลง’ จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยที่คิดเห็นเช่นนี้มีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 3 ในเอเชีย ขณะที่ 59% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียและในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงต้องการพบปะพูดคุยที่ธนาคารหรือสถานที่อื่นๆ มากกว่าการติดต่อผ่านทางอีเมล จดหมาย วิดีโอคอล หรือโทรศัพท์ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 จบลง ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยจำนวนหนึ่งกล่าวว่า การพบปะกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการดำเนินธุรกิจ และไม่คิดว่ากิจกรรมเหล่านี้จะสามารถทดแทนได้ผ่านการติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์

ด้านการลงทุนพบว่า 70% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยไม่ได้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะระยะเวลาของการลงทุน สำหรับด้านการบริหารสินทรัพย์ แม้ว่าจะมีผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียบางส่วนเลือกที่จะบริหารจัดการแบบที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (Conservative) ด้วยการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ด้วยแนวโน้มการหมุนกลับของโลกาภิวัตน์ ผู้มีความมั่งคั่งสูงหลายรายต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาด้านการจัดการบริหารสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยเสนอแนวทางและให้คำแนะนำ ช่วยให้เข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การบริหารสินทรัพย์ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอน โดย 87% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยกล่าวว่า การมีบริการพิเศษที่นอกเหนือบริการด้านลงทุนจะส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการเลือกธนาคาร โดยบริการ 3 อันดับแรกที่ผู้มีความมั่งคั่งสูงในไทยให้ความสำคัญสูงสุด ได้แก่ ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพย์สิน การเข้าถึงโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์ และความสามารถในการเข้าถึงเครือข่ายผู้ประกอบการ

และอีกกระแสที่กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงเริ่มหันกลับมาตระหนัก คือ กระแสด้านความยั่งยืน หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับการตัดสินใจเลือกไพรเวทแบงก์ โดย 69% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยได้จัดอันดับให้เทรนด์ด้านความยั่งยืนเป็น 1 ใน 3 ประเด็นที่สำคัญที่สุด ซึ่งประเทศไทยคือประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สอง รองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่า 89% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียกล่าวว่า เทรนด์ความยั่งยืนจะยังคงมีบทบาทสำคัญในระยะยาว แต่กลับมีเพียง 61% ที่วางแผนการลงทุนโดยคำนึงถึงมิติด้าน ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไพรเวทแบงก์ในการให้คำแนะนำ เพื่อแสดงให้กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงเห็นถึงศักยภาพและแนวทางการสร้างผลกำไรของการลงทุนอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า “ผลสำรวจจากรายงานฉบับนี้เป็นการตอกย้ำความต้องการของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่เพิ่มขึ้น และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ซึ่ง KBank Private Banking พร้อมด้วยพันธมิตรทางธุรกิจ Lombard Odier มองว่ามี 4 เรื่องที่ผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ต้องทำเพื่อช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้าในชีวิตวิถีใหม่” เร่งพัฒนาคุณภาพของบริการดิจิทัล ทั้งในด้านการสื่อสาร การส่งมอบบริการ การรายงานข้อมูลทางการเงิน และการทำธุรกรรม ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการให้บริการของไพรเวทแบงเกอร์ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง และติดตั้งเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้สะดวกขึ้นในทุกๆ ผลิตภัณฑ์เสริมความแข็งแกร่งของบริการที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลงทุนในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนนอกตลาดและลงทุนโดยตรงในบริษัท หรือบริการให้คำแนะนำด้านอสังหาริมทรัพย์และการวางแผนความมั่งคั่งเป็นสื่อกลางในการพิสูจน์ให้เห็นถึงผลตอบแทนในระยะกลางและระยะยาวของการลงทุนอย่างยั่งยืน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

"จากผลการสำรวจดังกล่าวทำให้เรารับรู้เทรนด์หลักๆ ที่กำลังจากเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ด้านดิจิทัลที่กำลังมาแรง โดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่ง ขณะที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำที่จะยังคงอยู่ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งหรือบางคนคาดว่าอาจจะถึง 10 ปี ซึ่งเป็นต้วปัจจัยที่บีบให้นักลงทุนหาช่องทางการลงทุนที่มีความเสี่ยงหรือความผันผวนมากขึ้น ทำให้เราต้องเตรียมการที่จะต้องรองรับทั้งในด้านของการหาผลิตภัณฑ์ การจัดพอร์ต รวมถึงการควบคุมความเสี่ยงและความผันผวนที่สูงขึ้น รวมถึงเทรนด์การให้บริการอื่นนอกเหนือการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพย์สินครอบครัว การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หุ้น-ตราสารหนี้นอกตลาด เป็นต้น และเทรนด์การลงทุนสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ESG ซึ่งทางกสิกรฯ และลอมบาร์ดจะต้องมีการเตรียมพร้อมที่จะปรับกลยุทธ์ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทน-บริการที่พึงพอใจ"


กำลังโหลดความคิดเห็น