xs
xsm
sm
md
lg

ล่าคนไซฟ่อนเงิน IFEC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ถือหุ้นบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC กำลังลุ้นกันอีกเฮือกว่าวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ศาลล้มละลายกลาง จะ อนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทหรือไม่

ถ้าอนุมัติ IFEC มีโอกาสฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ เพราะผู้บริหารเตรียมแผนการฟื้นฟูเพื่อนำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไว้แล้ว แม้จะต้องใช้เวลาสะสางปัญหาอีกพักใหญ่ก็ตาม

แต่ถ้าศาลล้มละลายกลางไม่อนุมัติแผนฟื้นฟูฯ ชะตากรรมของหุ้นตัวนี้คงสิ้นสุดลง พร้อมกับความหวังของผู้ถือหุ้นจำนวนเกือบ 3 หมื่นราย ซึ่งต้องล่มสลายตามไปด้วย

ความย่อยยับของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ เกิดจากการทุจริต การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจากผู้บริหารบริษัทในอดีต จนเป็นมหากาพย์แห่งการโกง และมีคดีฟ้องร้องกันรกโรงรกศาล

ล่าสุด มีคดีฟ้องร้องกันอีก โดย ผู้ถือหุ้น บริษัท โรงแรมดาราเทวี บริษัทลูกของ IFEC ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญา 2 กรรมการบริษัท ในความผิดยักยอกเงิน โยกรายได้ของโรงแรมจำนวนประมาณ 50 ล้านบาท ไปยังบริษัท ดาราเทวี จำกัด ซึ่งปิดกิจการตั้งแต่ปี 2558 และเตรียมยื่นให้กรมสรรพากร ตรวจสอบการยื่นเสียภาษีของโรมแรมดาราเทวี เพราะโรงแรมมีรายได้ แต่ไม่มีการยื่นเสียภาษีตั้งแต่ปี 2560 ทำให้รัฐขาดรายได้

นายจำปา โพธินาม ผู้ถือหุ้นบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ซึ่งยื่นฟ้องศาลไม่ได้ระบุว่า 2 กรรมการที่อยู่ในข่ายกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นใคร แต่คงปรากฏชื่อในสำนวนที่ยื่นฟ้องศาลไปแล้ว

สำหรับโรงแรมดาราเทวี เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากที่สุดของ IFEC ที่เหลืออยู่ โดยกรมบังคับคดีกำลังนำขายทอดตลาด แต่กลุ่มเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลของระงับการขายทอดตลาด เนื่องจากเห็นว่าราคากลางกำหนดต่ำเกินไปคือประมาณ 2,116 ล้านบาท ขณะที่ราคาประเมินอยู่ที่ประมาณ 3,700-3,800 ล้านบาท

บริษัท โรงแรมดาราเทวี เจ้าของโรงแรมดาราเทวี เป็นอีกหนึ่งในบริษัทลูกของ IFEC ที่มีข่าวอื้อเกี่ยวกับการฉ้อฉล ตั้งแต่ IFEC ซื้อกิจการเข้ามา

บริษัทลูก หรือบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียนมักเป็นแหล่งถ่ายเททรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ ทั้งธุรกรรมการซื้อขายทรัพย์สิน การซื้อขายสินค้าในลักษณะขายถูกซื้อแพง เพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่าง การปล่อยกู้กรรมการหรือการนำเงินไปย่อยสลายผ่านการลงทุน และประสบการขาดทุน

การปล้นเงินผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนผ่านบริษัทลูกทำได้ง่ายกว่า เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทลูกได้

บริษัทลูกของ IFEC หลายแห่งจึงมีปัญหาการผ่องถ่ายทรัพย์สินในลักษณะเดียวกับบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด

ไม่น่าแปลกใจว่า เพราะเหตุใด IFEC จึงตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งที่ไม่กี่ปีก่อนหน้า เคยเป็นบริษัทฯ ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาหลาด หรือมาร์เกตแคปหลายหมื่นล้านบาท ในเมื่อบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ตรวจสอบไปที่ไหนเจอแต่พฤติกรรมโกงที่นั่น

การที่ผู้ถือหุ้นบริษัทโรมแรมดาราทีวี ออกมาทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ตัวเอง ฟ้องดำเนินคดีกรรมการบริษัทที่ไซ่ฟ่อนเงิน เป็นการตอกย้ำถึงตำนานมหากาพย์แห่งการโกงใน IFEC

ไม่รู้ว่า แมลงเม่าจำนวนเกือบ 30,000 ชีวิต ที่ต้องสังเวยหุ้นตัวนี้จะมีโอกาสได้เห็น กลุ่มคนที่ร่วมกันโกงจน IFEC ย่อยยับ ต้องชดใช้กรรมที่ก่อไว้หรือไม่






กำลังโหลดความคิดเห็น