xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีโต 4% ชี้โควิด-19 ทำประชากรร่วงใต้เส้นความยากจนเพิ่ม 1.5 ล้านราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทยปี 64 เติบโต 4% ท่ามกลางความเสี่ยง ทั้งจากปัจจัยภายนอก-ในประเทศ แนะเร่งพัฒนาศักยภาพ ทักษะด้านแรงงานรองรับความท้าทายในอนาคต ชี้ผลกระทบโควิด-19 ทำประชากรตกงาน รายได้ลด ประชากรขยับลงใต้เส้นความยากจนเพิ่ม 1.5 ล้านคน

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)
กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 และประมาณการว่าจะลดลง 6.5% ในปี 2563 ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 4.0% ในปี 2564 และเติบโตได้ 4.7% ในปี 2565 ซึ่งจะเป็นการปรับฟื้นตัวขึ้นในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19 โดยการฟื้นตัวของจีดีพีในปีนี้ยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ การกระจายของวัคซีนที่อาจจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ และปัญหาการเมืองทั้งในประเทศและปัญหาด้านสงครามการค้า

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากรับผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่เท่ากับไตรมาส 2 ของปีก่อน และจะค่อยๆ โตสูงขึ้นในครึ่งปีแรกที่เริ่มมีการกระจายของวัคซีน ทำให้ความเชื่อมั่นด้านการบริโภคดีขึ้น จึงทำให้ยังมองยังสามารถประคับประคองจีดีพีไทยเติบโตได้ 4% ในปีนี้ แต่หากมองในกรณีเลวร้ายคือมีการแพร่ระบาดรุนแรงภาครัฐต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นแบบที่ปีที่แล้วก็จะคาดการณ์จีดีพีที่ 2.4%

"การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบประเทศไทยค่อนข้างสูง เนื่องจากเศรษฐกิจพึ่งพาภาคต่างประเทศสูง ทั้งจากการท่องเที่ยวและการส่งออก ส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดแรงงานที่มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น หรือชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรลดลง โดยพบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่ตกลงใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา"

นายแฮรี่ เอ็ดมุนด์ โมรอซ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมความท้าทายเดิมของตลาดแรงงานไทยที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในระยะกลางที่จะมีเรื่องเข้าสู่สังคมสูงวัยเข้ามาอีก ซึ่งภายหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรลดลง และมีจำนวนประชากรตกลงที่ใต้เส้นความยากจนมากขึ้นถึง 1.5 ล้านคน ส่งผลให้มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเพิ่มเป็น 5.2 ล้านคน จากปี 2562 ที่ 3.7 ล้านคน ดังนั้น ในระยะสั้นทางภาครัฐควรสนับสนุนให้มีการจ้างงานระยะสั้นสำหรับผู้ถูกเลิกจ้าง และเพิ่มประสิทธิภาพ-ทักษะแรงงานให้ตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการในระยะกลางและระยะยาว เช่น การดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงขยายเวลาเกษียณอายุ และเพิ่มงานสำหรับผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้

นายเกียรติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่มาตรการของรัฐก็สามารถเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระดับหนึ่ง และหากต้องทำเพิ่มเติมก็มองว่ายังมีวงเงินที่ทำเพิ่มได้จากหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย และที่ผ่านมา รัฐบาลก็รักษาเสถียรภาพทางการคลังที่ดีมาตลอด แต่สิ่งที่ควรเร่งรัดเป็นส่วนของงบประมาณต่างๆ ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วมีการเบิกจ่ายที่ไม่สูง และมีโอกาสที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้โครงการต่างๆ ล่าช้า และเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวช้าไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น