ภาพรวมราคาทองคำปี 2564 ร้อนแรงน้อยกว่าปีก่อน หาก COVID-19 ไม่สร้างความโกลาหลรอบใหม่จนเศรษฐกิจโลกล็อกดาวน์ ขณะที่การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐจากเงินล้นระบบถูกยกเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาดีดตัว แต่สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่คลี่คลาย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะลดทอนบทบาทของทองคำ
ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้สูงยิ่งในปี 2563 สำหรับ “ทองคำ” โดยปัจจัยสำคัญหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งสร้างผลกระทบทั้งโลกอย่างใหญ่หลวงจนทำให้ระบบเศรษฐกิจแทบทุกประเทศเกิดสภาวะ “ล็อกดาวน์” เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบหยุดนิ่ง จึงส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยอย่างรุนแรง นำไปสู่การโยกย้ายของเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “ทองคำ”
จนทำให้ในปีที่ผ่านมา ราคาทองคำปรับตัวสร้างสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 2,063.2 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ทำให้ราคาทองไทยทะลุขึ้นไปบาทละ 30,000 บาท ก่อนจะราคาตกลงในช่วงปลายปีหลังมีข่าวความคืบหน้าของวัคซีนต้าน COVID-19 โดยในปี 2563 สำหรับการสร้างสถิติสูงสุดในแต่ละเดือน พบว่า ราคาทองคำในประเทศปรับตัวสูงสุดของปีที่ระดับ 30,400 บาทต่อทองคำ 96.5% น้ำหนัก 1 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม ถือเป็นการทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาทองคำตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ซึ่งสูงสุดในเดือนดังกล่าวที่ระดับ 23,350 บาท มาเป็น 25,300 บาทในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นขยับเป็น 26,600 บาทในเดือนพฤษภาคม และทะยานขึ้น 29,300 บาทในเดือนกรกฎาคม แต่พอสร้างจุดสูงสุดในเดือนสิงหาคมปีก่อน ราคาทองคำเริ่มลดระดับลงมาเหลือ 29,150 บาทในเดือนกันยายน ต่อมาอยู่ที่ 28,300 บาทในเดือนพฤศจิกายน และเหลือ 27,050 บาทในเดือนสุดท้ายของปี และจุดต่ำสุดของราคาทองคำในประเทศสำหรับปี 2563 มีอยู่ด้วยกัน 3 รอบ เวลา ได้แก่ 21,450 บาทในเดือนมกราคม 25,200 บาทในเดือนมิถุนายน และ 25,400 บาทในเดือนพฤศจิกายน ทำให้โดยรวมทั้งปี 2563 ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 5,300 บาท
ขณะที่เดือนมกราคมปี 2564 เพียง 9 วันที่ผ่านมา (9 ม.ค.) พบว่า ราคาทองคำสูงสุดที่ระดับ 27,650 บาท และต่ำสุด 26,450 บาท ลดลง 400 บาท
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะเข้ามาทั้งผลักดันและกดดันให้ราคาทองคำมีความผันผวน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณจบสิ้น แม้หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัดซีนป้องกันให้แก่ประชาชน ถัดมาคือ ความเชื่อของนักวิเคราะห์ทั่วโลกที่คาดว่าปี 2021 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ 5.2% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะกลับมาดำเนินปกติ รวมถึงการค้าขายระหว่างประเทศที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐฯ ที่ผ่อนคลายขึ้น
“พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) ผู้นำเข้าและส่งออกทองคำแท่งรายใหญ่ของไทย แสดงความเห็นถึงตลาดทองคำหลังเปิดซื้อขายเต็มรูปแบบในปี 2564 ว่าทองคำเปิดตลาดเคลื่อนไหวในแดนบวก และสามารถผ่านยืนเหนือ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้เทรนด์ระยะกลางสดใสหลังราคาทะลุกรอบไซด์เวย์ดาวน์ ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 5 เดือน
ส่วนระยะยาวนั้นยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป แม้ว่าช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2563 ราคาทองคำจะปรับลดลงไปบ้าง ซึ่งช่วงนั้นกองทุน SPDR ได้ทยอยขายทองคำออกมาบางส่วน แต่ล่าสุดช่วงใกล้สิ้นปี 2563 กองทุน SPDR ได้กลับเข้ามาซื้อทองคำเข้าพอร์ตอีกครั้ง จึงเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดทองคำ
โดยการปรับตัวขึ้นมาของราคาทองในช่วงนี้มาจากปัจจัยหลัก 2 ปัจจัย ได้แก่ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ล่าสุด ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ได้ลงนามอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังรอบใหม่มูลค่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน น่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3 ออกมาเช่นกัน
ส่วนปัจจัยที่ 2 ที่ส่งผลให้ราคาทองคำขยับขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญคือ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากค่าเงินปอนด์ที่แข็งค่าหลังจากที่อังกฤษและสหภาพยุโรปสามารถตกลงมาตรการด้านการค้าลุล่วงจากกรณี BREXIT นอกจากนี้ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของสหรัฐฯ ยังส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และทองคำจึงเป็นทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ดี
“เมื่อปี 2563 เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 7% ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 25% โดยในปีนี้นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อทองคำ อีกทั้งธนาคารกลางหลายประเทศได้ลดสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐ และได้หันไปถือครองเงินสกุลอื่นรวมถึงทองคำเพิ่มขึ้น ส่วนระยะยาวนั้นทองคำยังเป็นขาขึ้นอีก 1-2 ปี เพราะอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำถึงปี 2566”
สิ่งสำคัญแม้ทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองในช่วงนี้จะเป็นขาขึ้น แต่อาจจะมีการขายทำกำไรออกมาในบางช่วง โดยนักลงทุนสามารถเข้าทยอยเข้าซื้อสะสมได้ และเน้นทำกำไรระยะสั้นเป็นรอบๆ แนะนำจับตาแนวต้านสำคัญบริเวณ 1,965 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หากผ่านได้จะเพิ่มโอกาสที่ราคาจะแตะ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สามารถเข้าซื้อเมื่อย่อตัวที่แนวรับ 1,921 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยกำหนดจุดตัดขาดทุนไว้ในบริเวณ 1,907 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ด้าน “ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ” ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก แสดงความเห็นว่า ภาพรวมตลาดทองคำในปี 2564 ราคาทองคำในประเทศน่าจะปรับระดับขึ้นแตะ 30,000 บาทต่อบาททองคำได้อีกครั้งในช่วงกลางปีนี้ เพราะขณะนี้เริ่มเห็นแนวโน้มการที่ตลาดรอนโยบายนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ รวมถึงการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากหลายประเทศ ทำให้ตอนนี้เงินล้นโลกแล้ว จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาทองคำในปีนี้จะยังเป็นขาขึ้นอยู่
เช่นเดียวกับแนวโน้มราคาทองคำต่างประเทศประเมินว่าจะยังเป็นขาขึ้นไม่แตกต่างกัน แม้ว่าในช่วงปลายปี 2563 การเคลื่อนไหวของราคาทองคำอาจลดความร้อนแรงลงบ้าง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว แต่ในช่วงต้นปี 2564 คาดว่าทองคำจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะมีปัจจัยบวกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และความเสี่ยงของการแพร่ระบาด COVID-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ขึ้น และแม้ว่า ราคาทองในปี 2564 จะเป็นขาขึ้น แต่เชื่อว่าการปรับตัวขึ้นในรอบนี้จะไม่ร้อนแรงเท่าปี 2563 เพราะธรรมชาติของราคาทองจะเป็นสินทรัพย์ที่ชอบความวุ่นวาย ขณะที่ปีนี้มีหลายสัญญาณที่ภาวะเศรษฐกิจโลกจะเริ่มนิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐฯ ที่จะช่วยลดกระแสความขัดแย้งลงไปได้ ทำให้ทิศทางสงครามการค้า (เทรดวอร์) น่าจะดูดีขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ จากการที่สหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ 0.00-0.25% รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารกลางสหรัฐฯ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนนั้นถือเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในทองคำ
แต่นักลงทุนจำเป็นต้องติดตามเรื่องวัคซีน COVID-19 และการกระจายใช้งานให้ทั่วถึงทุกประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถกระจายได้ทั่วถึงในช่วงครึ่งหลังปี ดังนั้น การแพร่ระบาดรอบใหม่นี้หากไม่ได้ส่งผลรุนแรงถึงขั้นทำให้หลายประเทศต้องประกาศล็อกดาวน์เป็นวงกว้างอีกระลอก เชื่อว่าสภาพคล่องที่ไหลเข้าสู่ระบบส่วนหนึ่งจะเข้ามาหาผลตอบแทนจากการลงทุนทองคำ ซึ่งจะสนับสนุนให้ราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำในปี 2564 ยังมีปัจจัยที่กดดันด้วยเช่นกัน โดย “ธนรัชต์ พสวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง เชื่อว่า ความน่าสนใจลงทุนทองคำปีนี้จะลดลง เมื่อ “โจ ไบเดน” เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบใหญ่ที่ 1,750-2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ นั่นเพราะการมาของ “โจ ไบเดน” ถือเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก เนื่องจากว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่มีนโยบายใช้มาตรการการคลังขนาดใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการสุขภาพ และพลังงานสะอาด รวมถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีท่าทีที่ประนีประนอมกว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ทำให้สงครามการค้าที่ตึงเครียดมาตลอดปีก่อน โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีทิศทางคลี่คลายลงได้ นั่นทำให้เกิดการกระตุ้นให้เม็ดเงินไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าทองคำ รวมไปถึงท่าทีของกองทุนทองคำ SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนในทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาจมีการเทขายทองคำที่สะสมออกมาในปีนี้ หลังจากปีที่ผ่านมา กองทุน SPDR Gold Trust เป็นผู้เข้าซื้อทองคำสุทธิช่วง 10 เดือนแรกของปี มากถึง 1,022 ตัน เทียบกับทั้งปี 2562 ที่เข้าซื้อสุทธิเพียง 398 ตัน โดย SPDR Gold Trust ได้เข้าซื้อทองคำต่อเนื่องทุกเดือน และซื้อเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในเดือน มี.ค.63 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาด COVID-19 ต่อเนื่องมาถึงเดือน ก.ค. ส่งผลให้ราคาทองคำสูงขึ้น แม้จะเริ่มลดปริมาณการซื้อลดลงในเดือน ส.ค.-ต.ค. โดย ณ สิ้นเดือน ต.ค. SPDR Gold Trust ถือครองทองคำทั้งสิ้น 3,899 ตัน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งกองทุนนี้มา ทำให้มีความเป็นไปได้ที่กองทุนดังกล่าว อาจมีการเทขายทำกำไรจากทองคำที่สะสมมาในปีนี้ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำในปี 2564 ปรับตัวลดลง
ดังนั้น ภาพรวมราคาทองคำในปี 2564 จึงพอสรุปได้ว่า ความร้อนแรงในการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในปี 2564 จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่สามารถยุติลงได้ และทำให้เกิดการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่อีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนคือการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้ามาในระบบจนล้นปรี่ ทำให้ทองคำยังเป็นตัวเลือกที่ดีเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
แต่ท่าทีสงครามการค้าระหว่างประเทศที่ลดความร้อนแรงลง หลังสหรัฐฯ ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ และเมื่อรวมกับเม็ดเงินจำนวนมากที่ต้องการสร้างผลตอบแทนระดับสูงผ่านตลาดหุ้น หากภาพรวมเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว ถือเป็นปัจจัยลบที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เพราะอาจทำให้ราคาทองคำปี 2564 ไต่ระดับขึ้นไปไม่ถึงจุดฝันของใครหลายคน