ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ร่วมกับฮั่วเซ่งเฮง เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถซื้อ-ขาย ทองคำ ราคาเดียวกับในตลาดโลกแบบเรียลไทม์ ด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนแพลตฟอร์ม Hua Seng Heng USD Gold Trade ผ่านบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit Account : FCD) สำหรับลูกค้าธนาคารกรุงเทพ ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน เพิ่มทางเลือกในการลงทุนและทำกำไรได้มากกว่าเดิม
นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไฟเขียวให้ลูกค้านักลงทุนสามารถลงทุนซื้อ-ขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. สามารถชำระค่าซื้อขายทองด้วยสกุลเงิน USD ผ่านบัญชี FCD ได้ โดยไม่ต้องแปลงสกุลเงิน จากที่ก่อนหน้าการซื้อขายทองคำในประเทศตามปกติต้องชำระเป็นสกุลเงินบาท ผ่านการตัดบัญชีบาทเท่านั้น ทำให้กลุ่มผู้ค้าทองรายใหญ่เริ่มสนใจและหันมาขยายบริการในตลาดกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ การลงทุนในรูปแบบการซื้อขายทองแท่ง 99.99 Gold Spot ด้วยสกุลเงิน USD ผ่านระบบออนไลน์ โดยอ้างอิงราคาทอง Live Gold Spot แบบ Real Time จะช่วยลดต้นทุนจากแรงกดดันและความผันผวนต่อค่าเงินบาท จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากไม่ต้องแปลงค่าเงินเป็นบาททุกครั้งที่มีการซื้อขาย สร้างความคุ้มค่าทำให้นักลงทุนได้มากขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกมากยิ่งกว่าเดิม ด้วยการทำธุรกรรมแบบออนไลน์ และภายในปลายปีนี้ลูกค้า FCD ธนาคารกรุงเทพ จะสามารถดูการเคลื่อนไหวทางบัญชี (View Statement) ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking ได้อีกหนึ่งช่องทางเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าสามารถเช็กรายละเอียดบัญชีได้ด้วยตัวเองตลอดเวลาที่ต้องการ และเชื่อว่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าบัญชี FCD ให้เพิ่มมากขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยลูกค้าสามารถเปิดบัญชี FCD ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงเทพ 45 สาขาแล้วในขณะนี้"
ด้าน นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจค้าทองฮั่วเซ่งเฮง รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความไว้วางใจ และให้การอนุญาตแก่บริษัทในการชำระและรับชำระค่าทองคำที่ซื้อขายในประเทศ กับลูกค้าของบริษัทที่เป็นบุคคลในประเทศ และบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ด้วยสกุลดอลลาร์สหรัฐ อย่างเป็นทางการเป็นรายแรก ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจซื้อขายทองคำผ่านทางช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมียอดผู้ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ 75% ซื้อผ่านหน้าร้าน 25% และช่องทางออนไลน์มีปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน 6% คาดว่าสิ้นปีนี้จะเติบโตได้มากกว่านี้
สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาทองคำประเมินว่า ณ สิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือทองคำบาทละ 26,000 บาท และในปีหน้าคาดการณ์กรอบที่ 1,750-2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือบาทละ 26,000-28,000 บาท ซึ่งการซื้อขายทองคำผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยสกุลเงินสหรัฐจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินได้ในระดับหนึ่งเนื่องจากมูลค่าการซื้อขายทองคำในแต่ละปีก็มีจำนวนสูง
"เราเปิดกว้างที่จะเป็นพันธมิตรกับธนาคารเพื่อขยายช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพเป็นแห่งแรก แต่ก็ยังมีที่ติดต่อกันอยู่อีก 3 แห่ง คาดว่าจะมีข้อสรุปได้ในปีหน้า"
**ยันฐานะมั่นคง-ยังไม่ออกหุ้นกู้เพิ่ม**
นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ขณะนี้สำรองหนี้เสียของธนาคารยังมีความแข็งแกร่งสามารถรับมือกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ดี ขณะที่กองทุนขั้นที่1 (Additional Tier1) ของธนาคารมีความแข็งแกร่งมากเช่นกัน จึงไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้เพื่อเพิ่ม Tier1 รอบใหม่ เนื่องจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าววงเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเพียงพอมาก พร้อมกันนี้ ธนาคารยังคงแผนบริหารหนี้เสียเอง ไม่มีแผนตัดขายหนี้เสียแต่อย่างใด
ด้านแผนธุรกิจขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผน โดยปี 2564 ยังมองว่ารายได้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะธนาคารเพอร์มาตาที่ธนาคารเข้าไปลงทุนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ธนาคารได้ดี และหวังว่าในปี 2564 รายได้ดังกล่าวยังคงเติบโตต่อเนื่อง ส่วนนโยบายการจ่ายเงินปันผล หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้แล้ว ธนาคารพร้อมจ่ายเงินปันผลดังกล่าวแต่จะพิจารณาการให้เงินปันผลโดยไม่กระทบต่อธุรกิจธนาคารด้วย
"เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564 จะกลับมาดีขึ้นแต่ไม่มาก และยังมองว่าการระบาดของโควิด-19 โอกาสคลี่คลายมีค่อนข้างยาก ดังนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการ แนะนำว่าให้ผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาดให้มากที่สุด"