แบงก์ชาติคลอด 3 มาตรการ ลดแรงกดดันค่าเงินบาท แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ช่วยเงินทุนเคลื่อนย้ายสมดุล ทั้งหนุนคนไทยฝากเงินตราต่างประเทศเสรี ซื้อขายทองคำเป็นดอลลาร์ เพิ่มวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ขยายวงเงินลงทุนรายย่อยโดยตรงเป็น 5 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 2 แสนดอลลาร์ และเรียกผู้ลงทุนลงทะเบียนเพื่อติดตามพฤติกรรมซื้อขายตราสารหนี้
น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยภายนอกทั้งผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จึงกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความผันผวนของเงินบาท
ขณะเดียวกัน เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้แก่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น ธปท.จึงเห็นควรดำเนินมาตรการ ดังนี้
1.เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ตลอดจนทำให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.
2.ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้แก่คนไทยและสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น
เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ สรอ.ต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ สรอ.ต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
ไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้
3.การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย ทำให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวสอดคล้องต่อการดำเนินการของหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน
ทั้งนี้ มาตรการข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ที่กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ธปท.ผลักดันร่วมกันแบบองค์รวม เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน