ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุจากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่ากังวล เพราะการแข็งค่าของเงินบาทในเวลานี้อาจกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงออกมาตรการดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท (20 พ.ย.) โดยในรอบนี้มุ่งเน้นที่การเสริมสร้างกลไกในระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การคลายเกณฑ์สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) สำหรับคนไทย 2.การขยายวงเงินและประเภทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่นักลงทุนไทยสามารถลงทุนได้ และ 3.การกำหนดให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อ-ขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ซึ่งสอดคล้องต่อการดำเนินการของหลายประเทศในเอเชีย เช่น เกาเหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน ซึ่งเปิดรับเงินทุนเคลื่อนย้าย และนักลงทุนสามารถซื้อขายตราสารหนี้ได้อย่างเสรีแต่ต้องมีการระบุตัวตนที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าอาจต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อติดตามประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าวในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้กับนักลงทุนไทย (เพื่อเพิ่มแรงซื้อเงินตราต่างประเทศ ชะลอเงินบาทแข็ง) เนื่องจากการกระจายพอร์ตการลงทุนยังขึ้นอยู่กับจังหวะและสภาพตลาดต่างประเทศ ผลตอบแทนเปรียบเทียบเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับกรณีนักลงทุนรายย่อย ขณะที่การกำหนดเกณฑ์ยืนยันตัวตนก่อนการซื้อขายตราสารหนี้อาจช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากการพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีผลกับการเคลื่อนไหวของเงินบาทในบางช่วง แต่ไม่ใช่มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า
นอกจากนี้ ด้วยปัจจัยพื้นฐานจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ก็อาจจะโน้มอ่อนค่าลงเพิ่มเติมในช่วงปีข้างหน้าตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ และสัญญาณการยืนดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าผ่านระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ ในปี 2564 และ ธปท.อาจจำเป็นต้องเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความผันผวนในระยะสั้น และประเมินความจำเป็นของการปรับใช้มาตรการดูแลเงินบาทเพิ่มเติมอีกในระยะต่อไป