ท่ามกลางตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีความผันผวน และปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ ซีบีอาร์อี รายงานว่า เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์เริ่มที่จะกลับมาประเมินพอร์ตการลงทุนของตนเองใหม่ และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารทรัพย์สิน เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอน แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ตัดโอกาสที่อาจเป็นไปได้ในปี 2564
น.ส.เพ็ญธิดา ศรีสว่าง หัวหน้าแผนกประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมดูแลสถานการณ์โควิด-19 แต่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ได้ทำให้นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากขึ้นหันมาประเมินพอร์ตการลงทุนของตนเองใหม่ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ นักลงทุนหลายรายได้เปลี่ยนจากการพิจารณาทบทวนเฉพาะทรัพย์สินใหม่ มาเป็นการประเมินมูลค่าพอร์ตการลงทุนทั้งหมด เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อราคาและผลการดำเนินงานของอสังหาริมทรัพย์แต่ละแห่งในระดับที่ต่างกัน นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้นักลงทุนจัดการพอร์ตการลงทุนและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งปรับกลยุทธ์และมองหาโอกาสใหม่ๆ จากทรัพยากรที่มีอยู่
ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ทำให้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังรวมถึงในต่างจังหวัดด้วย ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งคือ แนวโน้มของอาคารเชิงพาณิชย์ที่ได้พัฒนาจากอาคารเดี่ยว ไปสู่การเป็นโครงการแบบผสมผสาน หรือมิกซ์ยูสภายใต้การร่วมทุนของผู้พัฒนาโครงการ
“รูปแบบของโครงการใหม่ๆ อาจทำให้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่าในแง่ของรายได้ ถ้ามองในแง่ของการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ได้ให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องการออกแบบ ที่คำนึงถึงผู้ใช้พื้นที่เป็นหลัก ความเป็นไปได้ด้านการเงิน การรับรองมาตรฐานอาคารเขียวจาก LEED หรือ WELL พื้นที่สีเขียว และเทคโนโลยีแบบไร้สัมผัส จึงทำให้อาคารเก่าที่ขาดองค์ประกอบเหล่านี้ได้รับแรงกดดันมากขึ้นในการแข่งขันกับอาคารใหม่ๆ ที่มีความโดดเด่น” น.ส.เพ็ญธิดา กล่าวเพิ่มเติม
อาคารหลายแห่งสร้างขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 2530 ในทำเลยอดนิยม เช่น สาทร สีลม และสุขุมวิท นั้นเริ่มจะล้าสมัยไปแล้วในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากข้อมูลของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า ปริมาณพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 9.17 ล้าน ตร.ม. โดยมากกว่า 70% สร้างขึ้นก่อนปี 2543 ด้วยสัดส่วนของอาคารที่ล้าสมัยและพื้นที่สำนักงานใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมากกว่า 1 ล้าน ตร.ม. รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้กระตุ้นให้นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์หันกลับมาตรวจสอบพอร์ตการลงทุนของตนเอง
นอกจากนี้ ยังไม่ควรมองข้ามตัวแปรอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าทรัพย์สิน เช่น วัฏจักรของตลาดอสังหาริมทรัพย์ การเปลี่ยนแปลงด้านผังเมืองซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีที่ดินจำนวนมากขึ้นที่ถูกจัดโซนใหม่ให้เป็นที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม การขยายระบบโครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบการควบคุมอาคาร เช่น การกำหนดให้มีพื้นที่เปิดโล่งริมฝั่งทะเลมากขึ้น หรือการจำกัดพื้นที่โดยรวม (Gross Floor Area - GFA) ของอาคารแต่ละขนาด รวมถึงการเวนคืน ซึ่งส่งผลต่อการใช้ที่ดินและราคาเช่นกัน
“หลายคนมักคิดว่า การประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์จะจำเป็นต่อเมื่อต้องการนำทรัพย์สินออกขายหรือจำนองเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วการประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต่อทุกสถานการณ์ในตลาด โดยเฉพาะการบริหารพอร์ตของนักลงทุน เพราะช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถวางแผนกลยุทธ์ในระยะยาวและกลยุทธ์ย่อยสำหรับแต่ละตลาดได้ รวมถึงพิจารณาว่าอสังหาริมทรัพย์ใดจะมีศักยภาพในอนาคตมากกว่าอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ การทราบถึงทุกตัวเลือกที่มีจะช่วยให้นักลงทุนสามารถกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดีที่สุดของอสังหาริมทรัพย์แต่ละแห่งได้”