หุ้นน้องใหม่ที่เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นช่วงครึ่งปีหลัง คงไม่มีใครเป็นหุ้นยอดแย่เท่ากับบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เพราะประเดิมเคาะซื้อขายวันแรก ราคารูดต่ำจองกว่า 25% นักลงทุนที่จองไว้เจ็บสาหัสโดยถ้วนหน้า
การเข้ามาของหุ้น SABUY มีประเด็นแปลกและแตกต่างจากบริษัทจดทะเบียนทั่วไป โดยเฉพาะการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง กลุ่มนายอานนท์ชัย วีระประวัติ ถือหุ้นสัดส่วน 28.45% ของทุนจดทะเบียนได้ให้คำมั่นในเจตนารมณ์จะไม่เข้าร่วมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงานบริษัท และไม่ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการ กรรมการบริหาร และผู้บริหารบริษัท จนครบ 2 ปี นับจากเข้ามาถือหุ้น เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 โดยจะดำรงสถานะเป็นนักลงทุนเท่านั้น
SABUY เดิมเป็นบริษัทลูกของบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA โดยกลุ่มนายวิชัย วชิรพงศ์ หรือเสี่ยยักษ์ นักลงทุนรายใหญ่ได้ซื้อมา และดำเนินธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ จำหน่ายเครื่องดื่มและสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติ
เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มวชิรพงศ์ ได้ขายหุ้น จำนวน 288.094 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 32.44% ของทุนจดทะบียนให้กลุ่มรุจนพรพจี กลุ่มวีระประวัติ และนักลงทุนรายอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว ในช่วงใกล้เวลาที่เข้าจดทะเบียน บริษัททั่วไปมักจะไม่มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ เสี่ยยักษ์กลับขายหุ้นให้นักลงทุนกลุ่มอื่น
และมีข่าวว่า การขายหุ้น SABUY ออก เพราะเสี่ยยักษ์ต้องการพักเรื่องการลงทุน เนื่องจากกำลังเห่อหลาน
อีกประเด็นที่ทำให้การเข้ามาของ SABUY ดูทะแม่งคือ การที่นายอานนท์ชัย ให้คำมั่นในเจตนารมณ์จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารบริษัท และไม่ส่งตัวแทนเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัท
คำถามถือ นายอานนท์ชัย ให้คำมั่นกับใคร ให้คำมั่นกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้คำมั่นกับตลาดหลักทรัพย์ หรือให้คำมั่นกับผู้ถือหุ้นบริษัท
และคำมั่นที่ให้ไว้ เป็นเงื่อนไขในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนหรือไม่ เพราะโดยทั่วไป ผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 10% ของทุนจดทะเบียนมักจะมีโควตากรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นใหญ่มักจะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เพื่อดูแลปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง แต่กลุ่มวีระประวัติ กลับสละสิทธิการมีส่วนร่วมในการบริหารหรือควบคุมดูแลการบริหาร
SABUY นำหุ้นจำนวน 157.01 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนเป็นครั้งแรกในราคาหุ้นละ 2.50 บาท จากราคาพาร์ 1 บาท มีค่าพี/อี เรโช 22.95 เท่า โดยมีหุ้นของเสี่ยยักษ์ที่นำเสนอขายด้วย 40 ล้านหุ้น หรือ 3.98% ของทุนจดทะเบียน
หลังการเสนอขายหุ้น เสี่ยยักษ์ และครอบครัว จะไม่มีหุ้นเหลืออยู่ใน SABUY
หุ้นเข้าซื้อขายวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน โดยเปิดที่ราคา 2.50 บาท ขึ้นไปสูงสุดที่ 2.62 บาท ต่ำสุดที่ 1.82 บาท ก่อนจะขึ้นมาปิดที่ 1.87 บาท ลดลง 63 สตางค์ หรือลดลง 25.20% ปริมาณการซื้อขาย 426.57 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าซื้อขาย 947.85 ล้านบาท
SABUY เข้าซื้อขายในภาวะตลาดหุ้นที่เอื้ออำนวย แต่ราคากลับดิ่งลง สะท้อนให้เห็นว่า ราคาที่เสนอขายแพงเกินไป ทำให้เกิดการทิ้งหุ้น
แต่ใครถล่ม เพราะนักลงทุนที่จองซื้อคงไม่อยากตัดขายขาดทุนในวันแรก จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ติด Silent period หรือช่วงระยะเวลาห้ามขายหุ้น ทิ้งหุ้นออกมา เพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงถึงเกือบ 2 เท่าตัวของหุ้นที่นำมาจัดสรรขายนักลงทุนจำนวน 157.01 ล้านหุ้น
ความจริงไม่ควรมีใครบาดเจ็บจากหุ้นตัวนี้เลย เพราะถ้าพิจารณาจากสรุปข้อสนเทศบริษัทแล้ว ไม่น่าจองซื้อหุ้นตั้งแต่แรก ไม่ควรเข้าไปไล่ซื้อในกระดานตั้งแต่วันแรกที่ซื้อขาย
และไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพราะ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
แต่เป็นเพราะเสี่ยยักษ์ ซี่งเป็นนักลงทุนขาใหญ่ มีประสบการณ์ลงทุนยาวนาน แต่กลับขายหุ้น SABUY ทิ้งและราคา 2.50 บาทยังพ่วงหุ้นนำเสนอขายนักลงทุนหมดเกลี้ยง
ราคา 2.50 บาท ขาใหญ่ยังไม่ถือ แต่แมลงเม่ากับแห่เข้าไปจองซื้อ บทสรุปจากหุ้น SABUY คือ คนจองซื้อไม่สบาย และต้อง ทุกข์หนักตามๆ กัน