xs
xsm
sm
md
lg

RT ปิดเทรดวันแรกต่ำจอง 12 สต.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรกปิดต่ำจอง 1.80 บาท ลดลง 0.12 บาท คิดเป็น 6.25% มูลค่าซื้่อขาย 727.75 ล้านบาท โบรกฯ ประเมินราคาที่ 2.20 บาท ผู้บริหาราย RT เผยปี 63 จะเป็นปีที่บริษัทเติบโตสูงสุดในรอบ 20 ปีตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา และจะรักษาการเติบโตของรายได้ปีละ 10-15% พร้อมรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ 22-24%

บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรก โดยเมื่อเปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 1.75 บาท ลดลง 0.17 บาท หรือ 8.85% จากราคาขาย IPO ที่ 1.92 บาท และปิดเทรดช่วงเช้าที่ 1.73 บาท ลดลง 0.19 บาท หรือ 9.90% จากราคาขาย IPO ที่ 1.92 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 363.10 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 1.82 บาท ต่ำสุดที่1.66 บาท เมื่อปิดตลาดราคาหุ้นอยู่ที่ 1.80 บาท ลดลง-0.12 บาท คิดเป็น 6.25% มูลค่าซื้่อขาย 727.75 ล้านบาท

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯประเมินมูลค่าหุ้น RT ได้ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 2.20 บาท ด้วยวิธี PER Ratio ที่ 11x ตามลักษณะการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากบริษัทประกอบธุรกิจรับเหมาโดยมีความเชี่ยวชาญงานด้านธรณีเทคนิค จึงทำการเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ได้แก่ บมจ.ช.การช่าง (CK) บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) ซึ่งสามารถรับงานได้ในลักษณะคล้ายกับบริษัท ซึ่งปัจจุบันเทรดที่ 2564 PER เฉลี่ยราว 15.4x อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทเป็นผู้รับเหมาขนาดเล็ก จึงมองว่าบริษัทควรเทรดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม

ทั้งนี้ ประเมินกำไรสุทธิปี 2563 เติบโต 50% จากปีก่อน และขยายตัวต่อเนื่องในปี 2564 โดยประเมินกำไรสุทธิปี 2563 เพิ่มขึ้น 50% อยู่ที่ 196 ล้านบาท เติบโตสวนทางอุตสาหกรรม จากรายได้ 25% ตาม backlog ที่ยังอยู่ในระดับสูงรวมถึง GPM ปรับตัวดีขึ้นเป็น 19.5% จากปี 2562 ที่ 17.7% เนื่องจากโครงการอุโมงค์รถไฟทางคู่มาบกะเบา-จิระสามารถทำผลกำไรได้สูงกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ โดยคาดการณ์กำไรสุทธิจะยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องในปี 2564 อยู่ที่ 221 ล้านบาท 12% จากปีก่อน

RT มีจุดเด่นจากความเชี่ยวชาญงานด้านธรณีเทคนิค RT ประกอบธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้าง โดยมีจุดเด่นจากการที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญงานด้านธรณีเทคนิค ซึ่งเป็นงานก่อสร้างที่อาศัยความชำนาญและเทคโนโลยีระดับสูง โดย ณ สิ้นครึ่งแรกปีนี้ บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากโครงการก่อสร้างอุโมงค์และโครงสร้างใต้ดินสูงถึง 61% ปัจจุบันบริษัทมีโครงการขนาดใหญ่สำคัญๆ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มูลค่า 2.3 พันล้านบาท เป็นต้น

บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นบมจ.ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง (RT) ประเมินราคาเป้าหมาย 2.20บาท/หุ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอุโมงค์และโครงสร้างใต้ดิน โดยคาดได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ จึงคาดกำไรปกติปี 2563-2564 ที่ 62% และ 12% จากปีก่อนตามลำดับ จากรายได้ที่ขยายตัวและ Gross Margin ที่ปรับขึ้นจากงานอุโมงค์รถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางจิระ ปัจจุบันมี Backlog 4.3 พันล่านบาท รับรู้ถึงปี 2565 และรองรับประมาณการปี 2564 แล้ว 72% และมีโอกาสได้งานเพิ่มเติมในอนาคต

บล.ทิสโก้ ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมเบื้องต้นของ RT เทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจรับเหมาในตลาดที่ซื้อขายด้วย PER ที่ราวๆ 10-11 เท่าทำให้เราประเมินมูลค่าที่ 1.99-2.20 บาท โดยที่มีความปัจจัยที่ต้องติดตามคือแผนการประมูลงานในอนาคตโดยเฉพาะในส่วนของโครงการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานประเภทอุโมงค์ และรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเป็นงานที่บริษัทมีความชำนาญ

บล.ทรีนีตี้ แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 2.40 บาทต่อหุ้น คาดรายได้และกำไรในอนาคตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ปี 2562-2565 (CAGR) ราวร้อยละ 15.8 ต่อปี และกำไรเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 23.9 ต่อปี จากงานใหม่และงานในมือที่ทยอยรับรู้ และการระดมทุนขายหุ้น IPO ในครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถลงทุนระบบระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ การลงทุนในเครื่องจักร และอื่นๆ รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ประเมินราคาเป้าหมายปี 2564 เท่ากับ 2.40 บาท จากวิธี P/E 12 เท่า ซึ่งเป็นระดับ Conservative อ้างอิงค่าเฉลี่ย P/E บริษัทที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน

นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RT เปิดเผยว่า ปี 63 จะเป็นปีที่บริษัทเติบโตสูงสุดในรอบ 20 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา โดยบริษัทจะรักษาการเติบโตของรายได้อยู่ที่ระดับ 10-15% ต่อปี พร้อมรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 22-24% และอัตรากำไรสุทธิ 9-10% พร้อมเตรียมเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มปริมาณงานให้สูงขึ้น โดยพยายามรักษาปริมาณงานในมือ (Backlog) ต่อปีไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ขณะที่มีงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทยอยประกาศออกมาตั้งแต่ปลายปี 63 จนถึงต้นปี 64


กำลังโหลดความคิดเห็น