xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นน้องใหม่ IPO ปีนี้ลุยไฟเทรด ลุ้นวันแรกเหนือจองแบบหืดขึ้นคอ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นน้องใหม่ IPO ปีนี้ เรียกว่าฝ่ามรสุมเทรด เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังกังวล นักลงทุนหวั่นภาวะเศรษฐกิจโยงใยกระทบซบเซาทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งการเมืองคุกรุ่น บริษัทมหาชนหลายแห่งเบรกแผนและเลื่อนระดมทุน ไม่เว้นกระทั่งหุ้นเครือน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง “ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ PTTOR” ส่วนบริษัทที่ตัดสินใจขายหุ้น ต้องลุ้นเหนือจองแทบทุกตัวเรียกว่า "หืดขึ้นคอ" และส่วนใหญ่ต่ำจอง

อีกเพียงแค่เดือนเศษๆ ปี 2563 ก็จะผ่านพ้น ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกไม่เว้นแม้กระทั่งตลาดหุ้นไทยเอง ยังตกอยู่ในสถานการณ์บอบช้ำอย่างมาก เพราะตลอดต่อเนื่องทั้งปีนี้ ทุกประเทศทั่วโลกเผชิญต่อผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 กลายเป็นวิกฤตทางสาธารณสุขขนาดใหญ่ของโลก หลายประเทศจำเป็นที่จะต้องประกาศ lockdown ในการปิดประเทศเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรค ทำให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจต่างๆ ต้องปิดกิจการชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกหยุดชะงักไปพร้อมๆ กัน ผลต่อเนื่องที่ตามมายังห่วงโซ่อุปทานในกระบวนการผลิตที่ต้องหยุดชะงักลง พร้อมกับรายได้และกำลังซื้อที่ลดลงรุนแรงทำให้ลุกลามเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

แม้ว่าภาพรวมหลายประเทศมีแนวโน้มการควมคุมและการรักษาผู้ป่วยหายเป็นปกติ และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ในทางกลับกันหลายๆ ประเทศมีการกลับมาระบาดซ้ำในรอบสองจนต้องกลับมาประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง ล่าสุด นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ประเทศหลักๆ ในสหภาพยุโรป ได้แก่ อังกฤษ ฝรังเศส และเยอรมนี ประกาศกลับมาล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้งเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อจำกัดการกิจกรรมของผู้บริโภค คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมแผ่วลง และเบื้องต้นประเมินว่าจะกระทบต่อ GDP ไทยไตรมาส 4 ปีนี้ 0.37%-0.5% เพราะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความต้องการสินค้านำเข้าลดลง

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ตั้งแต่พบการระบาดในประเทศไทย และมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมโรคจนอัตราการแพร่ระบาดของโรคอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ จนผ่อนคลายเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ให้กลับมาประกอบธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และกิจกรรมทางสังคมได้ คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัวได้ต่อไปได้ ประเมินว่า GDP จะเติบโตที่ -7% ถึง -9% และการส่งออกขยายตัว -8% ถึง -10% และเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ -1% ถึง -1.5%

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้แผนของบริษัทมหาชนน้องใหม่ที่จะระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะบริษัทยกเลิก หรือเลื่อนการขายหุ้น IPO ออกไป จากภาวะเศรษฐกิจหดตัว บางธุรกิจได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ไม่มีรายได้ซ้ำร้ายยังประสบปัญหาขาดทุน ดังนั้น การยืดแผนเพื่อรอเวลาสภาวะตลาดที่เหมาะสม เพราะหากฝืนเข้ามาเทรดหุ้น IPO ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา หรือสภาวะตลาดผันผวน โอกาสที่จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุน หรือได้เงินระดมทุนตามมูลค่าระดมทุน อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้แต่หุ้นในเครือ ปตท.อย่าง “บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ PTTOR” ก็ยังต้องนิ่ง

พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล  กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ให้มุมมองต่อบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่จะเข้าระดมทุนเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO ให้ประสบความสำเร็จนั้น ประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการที่สำคัญ คือ การกระจายหุ้นให้เหมาะสม (placement) ระหว่างสัดส่วนนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อย การตั้งราคาที่เหมาะสมลงตัว (pricing) ไม่สูงมากจนเกินไปจนไม่อยากเข้าไปลงทุน และไม่น้อยไปจนมองหาช่องว่างของผลตอบแทนที่จะได้รับไม่คุ้มค่า และการนำเสนอเรื่องราวของบริษัทให้ตรงกับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเวลา

ไตรมาส 4 ไฮซีซันแห่งหุ้น IPO

อย่างที่ทราบกันดีว่าไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเป็นฤดูกาลที่สำคัญของบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่จะเดินหน้าเข้าเทรดหุ้น IPO ระดมทุนขยายธุรกิจกันเป็นจำนวนมาก และเดือน พฤศจิกายนนี้มีบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่จะเข้าซื้อขายหุ้น IPO อีกหลายบริษัท

บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล หรือ NCAP ประกอบธุรกิจการเงินในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ โดยจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET โดยกำหนดวันซื้อขายหุ้น IPO วันแรกในวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมาหมาดๆ ซึ่ง NCAP เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท กำหนดราคา IPO หุ้นละ 2.20 บาท ขณะที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) 13.9 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.16 บาทต่อหุ้น และหากคิดเป็นอัตราส่วน P/E เท่ากับ 9.3 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.24 บาทต่อหุ้น โดยคำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 -30 มิ.ย.63 ซึ่งมีกำไรสุทธิ142.7 ล้านบาท

สำหรับระดมทุนครั้งนี้ เพื่อจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายพอร์ตสินเชื่อ 80% ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 15% และลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสินเชื่อและระบบสนับสนุนการทำงาน 5% ระยะเวลาที่ใช้โดยประมาณภายในปี 2564 ซึ่ง NCAP มีบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 และบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

บมจ.สบาย เทคโนโลยี จำกัด หรือ SABUY ประกอบธุรกิจให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ การจำหน่ายตู้เติมเงินอัตโนมัติทั้งในรูปแบบการชำระด้วยเงินสดและเงินผ่อน และให้บริการตู้เติมเงินอัตโนมัติในระบบแฟรนไชส์ (Franchise) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส” และการจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูปผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้ง พลัส” และให้บริการติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหาร รวมถึงการให้บริการจัดการศูนย์อาหารพร้อมการจ้างบำรุงรักษาซ่อมแซมศูนย์อาหาร ตลอดจนการให้บริการชำระเงิน (Payment Service Provider / Facilitator) โดยจะเข้าเทรดใน ตลาดหลักทรัพย์ mai 11 พ.ย.นี้ ซึ่ง SABUY ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก หรือ IPO ไว้ที่ 157.02 ล้านหุ้น หรือ 15% ของทุนจดทะเบียน 1,050 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท กำหนดราคา IPO หุ้นละ 2.50 บาทต่อหุ้น และการระดมทุนครั้งนี้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยาย

บมจ.ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง หรือ RT ประกอบธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐและเอกชน โดยรับเหมาก่อสร้างด้านวิศวกรรมโยธา และธรณีเทคนิค เช่น งานโครงสร้างใต้ดิน งานระเบิดหิน งานขุดเจาะโดยไม่ใช้ระเบิด งานพัฒนาเหมือง งานเจาะสำรวจ งานคอนกรีตโครงสร้าง ตัวอย่างงานให้บริการ ได้แก่ สร้างอุโมงค์ สร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ สร้างท่อลอดใต้ดิน โดยบริษัทฯ จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET โดยกำหนดวันซื้อขายหุ้น IPO วันแรก 12 พ.ย.นี้ ซึ่งบริษัทเสนอขายหุ้น IPO ที่หุ้นละ 1.92 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยหากพิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 9.20 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.62 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 229.47 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 1,100 ล้านหุ้น จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.21 บาท และระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนในระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ในช่วงปี 63-65 ใช้เป็นเงินทุนในเครื่องจักร ยานพาหนะ เครื่องมืออุปกรณ์ในช่วงปี 63-65 ใช้เป็นเงินทุนในการก่อสร้างโรงซ่อมและอาคารเก็บวัสดุแห่งใหม่ในช่วงปี 63-64 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจในปี 2564

บมจ.เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู.ยูทิลิตี้ หรือ JR ประกอบธุรกิจให้บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร รวมถึงจำหน่ายอุปกรณ์และให้บริการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยบริษัทฯ จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ SET ซึ่งกำหนดวันซื้อขายหุ้น IPO วันแรกในวันที่ 30 พ.ย.นี้ โดย JR จะเสนอขายหุ้นไอพีโอ 200 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.32% ของทุนชำระแล้ว มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท นอกจากนี้ ยังมีหลายบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ใน pipeline เตรียมเข้าเทรดหุ้น IPO ทั้งใน SET และ mai ซึ่งยังไม่ระบุรายละเอียดด้านราคาจองซื้อและวันที่กำหนดเปิดการซื้อขายหุ้นวันแรก

หุ้นใหญ่มี Green shoe ก็ไม่รอด

สำหรับปีนี้นั้น มีหุ้น IPO ตัวใหญ่ที่เข้ามาระดมทุนก่อนหน้านั้น 2 บริษัทคือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกระดมทุนมากที่สุดนำหุ้น 48,000 ล้านบาท โดยกำหนดราคา IPO ที่ 42.0 บาทต่อหุ้น เข้าซื้อขายเมื่อวันที่ 20 ก.พ.2563

สำหรับ CRC เปิดเทรดวันแรกที่ 42 บาท จากราคา IPO ที่ 42 บาท ขึ้นสูงสุดที่ 42.25 บาท ต่ำสุดที่ 42.00 บาท โดยปิดเทรดวันแรกที่ 41.75 บาท ปรับตัวลดลง 0.25 บาท (-0.60%) มูลค่าซื้อขาย 7,637.06 ล้านบาท นอกจากนี้ด้วยขนาดของมาร์เกตแคปในวันแรกที่เข้าเทรดคือ 2.53 แสนล้าน และถือเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 15 อันดับแรก ซึ่งทันทีที่เข้าเทรด CRC จะถูกนำเข้าสู่การคำนวณดัชนี SET50 ด้วยเกณฑ์ Fast-track ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่หุ้น CRC เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันแรกด้วยขนาดมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาดคิดเป็น 1% ของมาร์เกตแคปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ขณะที่บิ๊ก IPO อีกตัวคือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เสนอขายหุ้น IPO ในราคาหุ้นละ 35.00 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 39,464.25 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 148,874.25 ล้านบาท โดย เข้าทำการซื้อขายหุ้น วันที่ 22 ต.ค.63 เป็นวันแรก โดยราคาเปิดที่ 37 บาท เพิ่มขึ้น 5.71% จากราคา IPO ซึ่งหลังจากเข้าเทรดหุ้น IPO ในตลาดหุ้นแล้ว SCGP จะมีคุณสมบัติในการได้รับการเข้าคำนวณใน SET50 และ SET100 ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบฟาสต์แทร็กได้ทันที เพราะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1% ของ SET Market Cap ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 13.8 ล้านล้านบาท หรือเป็นหุ้นที่ประเมินว่ามีมูลค่าตลาดติดอยู่ในช่วง 20 ลำดับแรกของดัชนี SET50 และ SET100 นอกจากนี้ SCGP ยังมีลุ้นติดโผเข้าคำนวณในดัชนี MSCI ที่จะประกาศเดือน พ.ย.นี้

แต่ถึงแม้ว่าทั้ง CRC และ SCGP จะมีกลไกกรีนชู ออปชัน ในการพยุงราคาหุ้น แต่ไม่สามารถที่จะพยุงราคาหุ้นให้อยู่ในระดับเหนือกว่าราคา IPO ได้ โดยหลังจากเข้าเทรดได้เพียงแค่ 3 วัน ราคาหุ้น CRC ก็ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาจองเกือบ 13% เพราะตั้งแต่เข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้น IPO เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมาราคาหุ้น CRC ก็มีความผันผวนมาโดยตลอด อาจขยับขึ้นเหนือราคาจอง IPO แต่ก็ยืนได้ไม่นาน สุดท้ายก็ปรับตัวลดลงมาโดยตลอดจนปรับตัวต่ำสุดที่ราคา 20.70 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 จากผลกระทบการประกาศล็อกดาวน์ตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ขณะที่ SCGP เข้ามาเทรดในช่วงการค้าออนไลน์คึกคัก ที่มีกลุ่มอีคอมเมิร์ซ หรือฟูดเดลิเวอรี ผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก และสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่นับจาก SCGP เข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้น IPO ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นลงอย่างต่อเนื่องโดยราคาปรับตัวสูงสุดที่ 37.25 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 22 ต.ค.63 และแกว่งตัวในทิศทางขาลงต่ำสุดที่ 32.75 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 29 ต.ค.63 และยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปเหนือกว่าราคาจองได้อีก แม้ว่าจะมี Green shoe Option อยู่ก็ตาม

นั่นจึงแสดงให้เห็นว่าปัญหาของหุ้นที่เข้าจดทะเบียนใหม่ไม่ได้อยู่กรีนชูแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การกำหนดราคาเสนอขาย เพราะต้นเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นต่ำกว่าจอง เกิดจากการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นที่แพงจนเกินไป ขณะที่ตัวบริษัทจดทะเบียนเองนั้น อาจไม่ใช้บริษัทที่มีผลประกอบการดี อยู่ในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมีการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง และในทางกลับกันอาจเป็นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานต่ำจนนักลงทุนมองว่ามีแนวโน้มความเสี่ยงมากกว่าโอกาสในการเข้าไปลงทุนซื้อหุ้น

หลายหุ้นใหม่ฝ่าแรงต้านโควิด-การเมืองไม่ไหว

นอกจากบิ๊ก IPO อย่าง CRC และ SCGP แล้ว ยังมีบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ที่ทยอยตบเท้าเข้ามาระดมทุนขายหุ้น IPO ด้วย แต่หลายๆบริษัทกลับไม่สามารถทนแรงต้านทานจากปัจจัยลบที่ถาโถมเข้ามาได้ ส่งผลให้ราคาหุ้น IPO ที่เข้าเทรดวันแรกไม่อาจยืนเหนือราคาจองซื้อได้ ล่าสุด คือบริษัท สยามราชธานี จำกัด ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ราคาจอง 6.50 บาท ปิดวันแรก 6.40 บาท ต่ำกว่าจอง 10 สตางค์

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. บริษัท พีรพัฒน์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PRAPAT เข้าซื้อขายในตลาด mai กำหนดราคาจองที่ 1.50 บาท/หุ้น ราคาปิดวันแรกที่ 1.46 บาท ต่ำกว่าจอง 4 สตางค์ บริษัท ดีเฮ้าส์พัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ DHOUSE เข้าซื้อขายในตลาด mai เมื่อ 26 ต.ค. ราคาจอง 60 สตางค์ ปิดวันแรกที่ 61 สตางค์ สูงกว่าจอง 1 สตางค์ และบริษัท ชริ้ง เฟล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SFT เข้าซื้อขายในตลาด mai เมื่อ 29 ตุลาคม ราคาจอง 3.80 บาท ปิดวันแรกที่ 3.66 บาท ต่ำกว่าจอง 14 สตางค์ ล่าสุด บริษัท เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ WGE เข้าซื้อขาย 3 พ.ย. โดยเปิดที่ราคา 2.40 บาท และสูงสุดที่ 2.54 บาท ก่อนจะมีแรงเทขาย จนราคาลงมาปิดที่ 1.98 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดของวัน ต่ำกว่าราคาจอง 32 สตางค์ หรือต่ำกว่าจอง 13.91% บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เข้าซื้อขายในตลาด mai เมื่อ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ราคาจอง 3.42 บาท ปิดวันแรกที่ 3.50 บาท สูงกว่าจอง 8 สตางค์

STGT ได้ดีเพราะมีโควิด-19

แม้ว่าหลายบริษัทจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ก็ยังมีบางบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับอานิสงส์จากการประกอบธุรกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและเข้ามาในช่วงจังหวะที่เรียกว่าเหมาะสม เช่น บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ซึ่งหลังจากที่เขาจดทะเบียนขายหุ้น IPO แล้วราคาหุ้นก็ปรับตัวสูงขึ้นสร้างสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หุ้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพาราไม่ได้อยู่ในความสนใจของนักลงทุนมากนัก การซื้อขายบางตาราคาหุ้นทรุดตัวตามราคายางที่ตกต่ำ โดยบางบริษัทผลประกอบการขาดทุน แต่หลังเกิดวิกฤต “โควิด-19” หุ้นผลิตภัณฑ์ยางพาราราคาเริ่มฟื้นขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อหุ้น STGT บริษัทลูกของ STA เข้ามาซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2563 ราคาพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง โดยเปิดที่ราคา 55.25 บาท/หุ้น ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 60.50 บาท สูงกว่าจอง 26.50 บาท หรือสูงกว่าจอง 77.94% จากราคา IPO ที่ 34 บาท/หุ้น แม้เสียงหลายกระแสจะมีมุมมองว่า ค่าพี/อี เรโช ของ STGT ที่สูงลิบถึงกว่า 70 เท่า จะคุ้มค้ากับการเสี่ยงที่จะเข้าไปลงทุนหรือไม่ แต่จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นแล้วว่าหุ้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมทั้งบริษัทที่ผลิตถุงมือยาง หากยังมีแนวโน้มผลประกอบการที่เติบโตดี โดยเฉพาะในยุคที่โควิด-19 ระบาด และแนวโน้มโรคอุบัติใหม่ในอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดโรคระบาดอะไรขึ้นอีกหรือไม่ หุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยพื้นฐานเหล่านั้นจะยังคงสำคัญเสมอ


กำลังโหลดความคิดเห็น