รมว.คลัง เตรียมแผนกู้ชดเชยขาดดุล กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ หากจัดเก็บรายได้ภาษีต่ำเป้า พร้อมสั่งสรรพากร เตรียมศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษี หนุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ พร้อมศึกษาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% เตรียมแผนลดภาษีด้านสังคม จูงใจธุรกิจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายกรมสรรพากร โดยระบุว่า ยังคงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563 ของกรมสรรพากรตามเป้าเดิม ที่ระดับ 2.085 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเตรียมในเรื่องการใช้เงิน กระทรวงการคลังจึงมีการเตรียมพร้อมการกู้ชดเชยขาดดุลกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เหมือนกับปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการติดตามตัวเลขการจัดเก็บรายได้ก่อน โดยจะมีการพิจารณาเป็นรายไตรมาส เพื่อสรุปอีกครั้งในช่วงกลางปี 2564
“ตอนนี้ได้สั่งให้หน่วยงานรวบรวมข้อมูลการใช้เงิน โดยเฉพาะในเรื่องการใช้จ่ายภาคการเกษตร เช่น โครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปแล้ว ฉะนั้น ยืนยันว่าเม็ดเงินในการใช้จ่ายจะมีเพียงพอ ไม่ช็อตแน่นอน”
นายอาคม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายกรมสรรพากร ในเรื่องการขยายฐานภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียภาษีเข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มขึ้นจากมาตรการต่างๆ ที่สรรพากรดำเนินการ ซึ่งเม็ดเงินจากการจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ กรมสรรพากรได้นำมาดำเนินการผ่านนโยบายรัฐ เพื่อพัฒนาประเทศ เช่น โครงการ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน เป็นต้น และให้กรมสรรพากรคืนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายในเรื่องประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น ใช้ระบบ AI มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล และรวมถึงโครงสร้างภาษี ซึ่งได้ให้กรมสรรพากร เตรียมพิจารณาโครงสร้างการปฏิรูปโครงสร้างภาษี หลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะประสานความร่วมมือผ่านกรมสรรพสามิต และศุลกากร เพื่อให้เอื้อต่อการอำนวยขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การค้าขายสินค้าออนไลน์ การขายบริการบนโลกออนไลน์ เป็นต้น
“การปรับโครงสร้างภาษี จะให้กรมสรรพากร สรรพสามิต และกรมศุลกากร ดูหมดรวมทั้งการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ต้องศึกษาโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นใช้มากี่ปี เมื่อประเทศมีการพัฒนา มีการเจริญเติบโต รายได้ในแง่ประเทศก็เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องแข่งขันกับต่างประเทศด้วย ฉะนั้น ต้องศึกษาว่าโครงสร้างภาษีจะต้องเอื้ออำนวยต่อการแข่งขันกับต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มภาษีบางส่วน และลดภาษีบางส่วน”
ทั้งนี้ ยังได้มอบนโยบายให้ดูแลภาษีทางด้านสังคมด้วย เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้แก่ภาคเอกชน นอกจากการทำธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรก็ยังทำงานทางด้านสังคม หรือ CSR ซึ่งธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะให้กรมสรรพากรพิจารณาเรื่องระบบภาษีที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนในส่วนนั้น