xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลมอบของขวัญปีใหม่ … คนละครึ่งเฟส 2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - คลังเตรียมเปิดโครงการ "คนละครึ่ง เฟส 2" มอบเป็นของขวัญปีใหม่ หลังประชาชนแห่ลงทะเบียนเฟสแรกในรอบเก็บตก 2.5 ล้านสิทธิ์ เต็มจำนวนภายในเวลา 3 ชม.เศษ พร้อมขยายใช้สิทธิถึงต้นปีหน้า คาดสรุป ธ.ค. นี้ "บิ๊กตู่" สนับสนุนเต็มที่หากโครงการได้ผลดี รมว.คลังรับสำรองแผนกู้ชดเชยขาดดุล กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ หากจัดเก็บรายได้ภาษีต่ำเป้า พร้อมสั่ง "สรรพากร" เตรียมศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษี หนุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ พร้อมศึกษาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% และแผนลดภาษีด้านสังคม จูงใจธุรกิจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมสรรพากร ถึงโครงการ "คนละครึ่ง" ที่เปิดให้ประชาชนลงทุนรอบเก็บตก หรือรอบที่ 2 จำนวน 2.5 ล้านสิทธิ์ และมีประชาชน เข้ามาลงทะเบียนเต็มจำนวนภายในระยะเวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษ ว่า กระทรวงการคลังเตรียมทำโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ขยายเวลาโครงการไปจึงถึงต้นปีหน้า ให้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านที่ยังคงเหลืออยู่ คาดจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ธ.ค. นี้

“โครงการคนละครึ่ง มีกระแสตอบรับดี ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนได้ คลังจึงจะพิจารณาออกโครงการ เฟส 2 ซึ่งอาจจะพิจารณาเพิ่มสิทธิผู้เข้าร่วมโครงการให้มากกว่า 10 ล้านคน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ส่วนจะเพิ่มวงเงินให้กับผู้ที่เคยได้รับสิทธิด้วยหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งยังมีงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ก้อนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เหลืออยู่ราว 2.5 แสนล้านบาท โดยคลังจะต้องทำโครงการเพื่อเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาอีกครั้ง” นายอาคม กล่าว

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และในฐานะรองโฆษกประจำกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งรอบ 2 จำนวน 2.5 ล้านสิทธิ มีประชาชนแห่เข้ามาลงทุนจำนวนมาก ธนาคารกรุงไทย จึงปิดระบบเพื่อขยายช่องรองรับการลงทะเบียน ทำให้ประชาชนหลายคนลงทะเบียนไม่สำเร็จในช่วงแรก จากนั้นจึงเปิดระบบใหม่อีกครั้งเวลา 09.00 น. แต่ยอดลงทะเบียนเหลือเพียง 900,000 สิทธิ ทำให้ยอดลงทะเบียนเต็มโควตาอย่างรวดเร็วในเวลา 09.15 น.

สำหรับโครงการคนละครึ่ง เมื่อรัฐบาลอุดหนุนครึ่งหนึ่งประชาชน 10 ล้านคน ยอดเงิน 30,000 ล้านบาท และจากภาครัฐสนับสนุน 30,000 ล้านบาท รวมแล้วมีเงินออกสู่ระบบไปแล้วถึง 60,000 ล้านบาท หากรวมกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมา ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการช้อปดีมีคืน และการจ่ายเงินลงสู่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน จะส่งผลให้มีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ กว่า 200,000 ล้านบาท ส่งผลต่อจีดีพีร้อยละ 0.54 แม้ว่าจีดีพีปีนี้อาจติดลบร้อยละ 7.7 แต่ในช่วงปลายปีจะมีเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 11 พ.ย. 63 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.9 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 7,410,937 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 11,889 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 6,059 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 5,830 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 210 บาทต่อครั้ง โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ

พร้อมกันนี้ คลังได้ขอความร่วมมือประชาชนและร้านค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้ร้านค้าอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากจะเป็นการเอาเปรียบประชาชนและทำลายบรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอยตามโครงการคนละครึ่ง อีกทั้งประชาชนโปรดอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ ในการช่วยดำเนินการโดยไม่มีการใช้จ่ายจริงอย่างเด็ดขาดเพราะอาจ ตกเป็นเหยื่อในการสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดและมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาการกระทำที่อาจ เข้าข่ายผิดเงื่อนไขโครงการ โดยหากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดจริง จะมีการระงับการใช้แอปพลิเคชันและระงับ การจ่ายเงินร้านค้าทันที

นายกฯ พร้อมสนับสนุนถ้าโครงการดี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างการปาฐกถาในงานสัมมนา "ภาคธุรกิจไทยในวิถียั่งยืน" ว่า ได้รับทราบแล้วว่ามีประชาชนรอลงทะเบียนตั้งแต่เช้า และแห่ลงทะเบียนในช่วงแรกจนระบบล่ม ซึ่งส่วนตัวนายกรัฐมนตรีเห็นว่าโครงการคนละครึ่งเป็นโครงการที่ดี และหากประชาชนสนใจมาก ก็อาจจะต่อหรือขยายโครงการนี้ออกไปอีก

คลังเล็งกู้ชดเชยงบประมาณ64ขาดดุล

สำหรับการมอบนโบายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรนั้น นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลยังคงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรสำหรับปีงบประมาณ 2564 เท่าเดิมที่ 2.085 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล สามารถกู้ชดเชยได้ หากสรรพากรจัดเก็บรายได้ไม่ได้ตามเป้า ซึ่งเป็นการดำเนินการลักษณะเดียวกับปี 2563 ที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ได้มอบนโยบาย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การขยายฐานภาษีให้เพิ่มขึ้น โดยการชักชวนให้ผู้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลธรรมดาอยู่ในระบบภาษี 9 ล้านคน และมีผู้เสียภาษีจริง 3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะรายได้ของกรมสรรพากรคิดเป็น 70% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ รวมถึงการขยายฐานภาษีนิติบุคคลด้วย

2. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยให้นำเทคโนโลยีไปสู่การเก็บภาษีด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งกรมสรรพากรให้ความสำคัญเรื่องนี้และดำเนินการมาโดยตลอดอยู่แล้ว และ 3. การปรับโครงสร้างภาษี ได้ขอให้กรมสรรพากรช่วยพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อรองรับเศรษฐกิจและภาคธุรกิจหลังโควิด-19 โดยให้ประสานกับกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลออนไลน์

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปประเมินการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 จะต่ำกว่าเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันต้องไปดูตัวเลขรายจ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกร ทั้งโครงการประกันรายได้ข้าว และยางพารา รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นที่กำลังจะตามมา ส่งผลทำให้ภาระรายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น เพื่อประมาณงบประมาณปี 2564 จะเพียงพอหรือไม่ หรือจำเป็นต้องกู้เพิ่มจำนวนเท่าใด

"การกู้เงินเพิ่ม จะเหมือนกับปีงบประมาณ 2563 เป็นการกู้กรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งยังเหลือช่องว่างกู้ได้อีกเท่าไรนั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูอยู่ โดยจะสรุปได้ในเร็ว ๆ นี้ ยืนยันว่ารายจ่ายของรัฐบาลจะไม่ช็อตแน่นอน" นายอาคม กล่าว

ส่วนประเด็นที่สถานการณ์ค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ นั้น นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกำชับให้ดูแลนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลัง แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว มีการติดลบน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ แต่มาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านการคลังต่าง ๆ ก็ยังมีความสำคัญ ทั้งเรื่องการช่วยเหลือ SMEs การลดอัตราดอกเบี้ย และการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรตั้งเป้าหมายขยายฐานภาษีในปีงบประมาณ 2564 ประมาณ 500,000 ราย เนื่องจากการค้าปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากขยับขึ้นไปสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น แม้จะเป็นบุคคลที่มีรายได้ไม่ถึงกำหนดต้องเสียภาษี หากมีรายได้ประจำจากการประกอบอาชีพเพียง 10,000 บาทต่อเดือน ขอให้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ส่วนผู้มีรายได้ 25,000 บาทต่อเดือน อยู่ในขอบข่ายต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี หากทุกคนที่มีอาชีพอิสระร่วมกันยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีจะทำให้มีเงินกลับมาเข้าพัฒนาประเทศในช่วงโควิด-19 เพราะปีนี้กรมสรรพากรยังคงเดินหน้าจัดเก็บรายได้ภาษี 2.085 ล้านล้านบาท เพราะรายได้ของกรมสรรพากรสัดส่วนร้อยละ 70 ของรายได้ภาษีของทุกกรมจัดเก็บภาษี


กำลังโหลดความคิดเห็น