ซีเค พาวเวอร์ อวดกำไรงวดนี้ 831.3 ล้านบาท และรายได้เติบโตแตะ 2,131 ล้านบาท เพราะปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 35% ขณะทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “A คงที่” สะท้อนผลงานเด่นด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และกระแสเงินสดที่มีสภาพคล่อง
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 มีรายได้รวม 2,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,001.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.5 และมีกำไรสุทธิ 831.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 33.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 798 ล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2563 มาจากน้ำงึม 2 มีปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณการขายไฟฟ้า 405.2 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าได้ 299.3 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 105.9 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 เพิ่มจาก 2,220 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2562 เป็น 2,386 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5
ในส่วนของกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/2563 มาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่มีการดำเนินงานเต็มไตรมาส ทำให้มีปริมาณการขายไฟฟ้ารวม 2,314 ล้านหน่วย คิดเป็นรายได้ 4,483 ล้านบาท
โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 4,200 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 2,994 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อนประมาณร้อยละ 40 ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ที่ 1 (BIC-1) และ 2 (BIC-2) ยังคงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ เนื่องจากยังไม่มีแผนที่จะหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ในปีนี้ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าเต็มกำลังการผลิตเช่นกัน
สำหรับรายได้ช่วง 9 เดือนของปีนี้ มีรายได้รวม 5,724 ล้านบาท ลดลงจากช่วง 9 เดือนของปี 2562 ที่มีรายได้ 6,731 ล้านบาท ลดลง 1,007 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 15 โดยสาเหตุหลักมาจากการประกาศจ่ายไฟฟ้าด้วยความระมัดระวังของโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 ทำให้ในครึ่งปีแรกของปี 2563 ขายไฟฟ้าได้น้อยกว่าครึ่งปีแรกของปี 2562 บวกกับค่าก๊าซของ BIC ในช่วง 9 เดือนของ 2563 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ประมาณร้อยละ 7 แต่บริษัทฯ ยังสามารถทำกำไรสุทธิที่เป็นของบริษัทฯ 397 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิที่เป็นของบริษัท 257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.0 ซึ่งสาเหตุมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าไซยะบุรีที่ 231 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าไซยะบุรีมีรายได้จากการขายไฟฟ้าช่วง 9 เดือนของปี 2563 รวม 8,942 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณการขายไฟฟ้า 4,654.4 ล้านหน่วย
“เนื่องจากตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ของปีนี้ มีพายุและฝนตกต่อเนื่องใน สปป.ลาว ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 มีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี อยู่ในระดับที่เพียงพอและเป็นที่น่าพอใจต่อการขายไฟฟ้าในช่วงเดือนแรกของไตรมาส 4 ที่ผ่านมา และคาดว่าสถานการณ์น้ำจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจต่อเนื่องไปในปี 2564 ดังนั้น คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายธนวัฒน์ กล่าว
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทฯ เตรียมออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานและลงทุนโครงการใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางทริสเรทติ้งได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ดังกล่าวที่ระดับ “A-” แนวโน้มคงที่
ขณะเดียวกัน ยังคงอันดับเครดิตองค์กรของ CKPower ที่ระดับ “A” แนวโน้ม คงที่ (Stable) ซึ่งทริสเรทติ้งชี้ว่า อันดับเครดิตของ CKPower สะท้อนผลงานในการพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ และกระแสเงินสดรับที่คาดว่าจะได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้รับอันดับเครดิต “AAA/Stable” อีกทั้งบริษัทฯ มีประวัติการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ โดยสิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2563 นี้ บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายประมาณ 2,700 ล้านบาท หรืออัตรา EBITDA Margin ที่ร้อยละ 47 และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.62 เท่า