บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT เพิ่งประกาศโครงการเปิดให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจเป็นรอบที่ 2 ตามแผนปรับองค์กรเพื่อความอยู่รอด ส่วนบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ก็ประกาศลดพนักงานจำนวน 300 คน เพื่อปรับขนาดองค์กรให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลอยู่ในภาวะระส่ำระสายมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าค่ายเล็กหรือใหญ่ ต่างประสบปัญหาเดียวกันคือ ผลประกอบการขาดทุน โดยธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นตกรูด สะท้อนรับกับผลประกอบการอย่างชัดเจน
ช่อง 3 ของ BEC เคยรุ่งเรือง ครองเรตติ้งอันดับหนึ่ง ผลกำไรเติบโตสูง ราคาหุ้นมั่นคง และเป็นหุ้นยอดนิยมของนักลงทุน
แต่หลังเปิดทีวีดิจิทัล ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เพราะมีสื่อที่เป็นทางเลือกมากขึ้น เรตติ้งของช่อง 3 จึงตก รายได้โฆษณาลด ผลประกอบการที่เคยสดใส กลับกลายเป็นผลขาดทุน จน กลุ่มมาลีนนท์ต้องชิงขายหุ้นบางส่วนออก เพื่อเปลี่ยนมากำเงินสดไว้ โดยเปิดทางให้กลุ่มจุฬางกูรเข้ามาถือหุ้นใหญ่
การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของ BEC ดำเนินมาหลายปีแล้ว มีการลดพนักงานหลายรอบ เปลี่ยนผู้บริหารหลายครั้ง แต่ ยังไม่สามารถทำให้ผลประกอบการดีขึ้น โดยขาดทุนติดต่อ
ราคาหุ้น BEC ดิ่งลงมาตลอด และเคยลงไปต่ำสุดแถวๆ 3 บาท ก่อนจะกระเตื้องขึ้นมายืนที่ 46 บาท แต่ยังถูกจัดเป็นหุ้นที่มองไม่เห็นอนาคต เช่นเดียวกับธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลอื่นๆ ที่ยังอยู่ในช่วงขาลง
ปี 2561 BEC มีผลขาดทุนสุทธิ 330.18 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 397.17 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 541.92 ล้านบาท
ผลประกอบการของ BEC ย่ำแย่ ไม่แตกต่างจาก MCOT ราคาหุ้นก็รูดลงหนักเหมือนกัน จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ "ติดดอย" ก็มีใกล้เคียงกันคือประมาณ 1 หมื่นคนเศษ
แต่ MCOT กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่กว่า 65% ของทุนจดทะเบียน ธนาคารออมสินถือหุ้นอีกกว่า 11% ของทุนจดทะเบียน จึงไม่ล้มพับลงง่ายๆ
ส่วน BEC กลุ่มจุฬางกูรถือหุ้นใหญ่ และกลุ่มมาลีนนท์ถือหุ้นรองลงมา ถ้ามีปัญหาฐานะทางการเงินอาจระดมทุนไม่ง่าย
เพราะกลุ่มจุฬางกูรเงินจมไปกับหุ้นหลายบริษัท โดยเฉพาะการถมเงินหลายพันล้านไปกับบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK จึงไม่น่าจะมีความพร้อมในการเพิ่มทุน ดังนั้น จำเป็นต้องพยายามฟื้นฟูฐานะการดำเนินงาน ซึ่งหากปล่อยให้ขาดทุนต่อไป อีกไม่นานจะมีปัญหาฐานะทางการเงินตามมา
แต่แผนการปรับขนาดองค์กร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และทำให้ผลประกอบการพลิกกลับมามีกำไร เมื่อไหร่จะบรรลุเป้าหมาย
BEC เคยเป็นองค์กรสื่อทีวีดิจิทัลค่ายใหญ่ มีการลงทุนสูง มีบุคลากรจำนวนมาก แม้หลายปีที่ผ่านมาพยายามคุมต้นทุน ตัดรายจ่ายหลายด้านทิ้ง แต่แผนการลดค่าใช้จ่ายยังทำได้ไม่ทันกับรายได้ที่ลดฮวบ จึงต้องแบกขาดทุนติดต่อกันหลายปี และยังไม่เห็นสัญญาณฟื้น
อย่างไรก็ตาม แม้ BEC กลายเป็นหุ้นที่มองไม่เห็นอนาคต เช่นเดียวกับ MCOT แต่มีความเคลื่อนไหวคึกคักกว่า เพราะราคาทรงตัวแถวนี้มาพักใหญ่แล้ว มูลค่าการซื้อขายวันละหลายล้านบาท บางช่วงเคาะซื้อขายวันละหลายสิบล้านบาท ไม่ใช่หุ้นที่อยู่ในสภาพตายซากเสียทีเดียว
เพียงแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 11,044 รายจะทนกับขาลงเต็มตัวของหุ้น BEC ได้ขนาดไหนเท่านั้น