xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เจรจาสถาบันการเงินเร่งช่วยเหลือลูกหนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.ระบุการดำเนินนโยบายการเงินมีข้อจำกัด เน้นเกิดความสมดุลระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจกับเสถียรภาพสถาบันการเงิน คาดว่าทั้งปี 63 ติดลบ 7.8% ติดลบต่ำกว่าที่ประมาณการ เร่งดูแลลูกหนี้ที่เกิดปัญหาจากโควิด-19 และหารือกับสถาบันการเงินเพื่อหามาตรการช่วยเหลือต่อไป

วันนี้ (14 ต.ค.) ได้มีการประชุมนักวิเคราะห์และผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ร่วมประชุม

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวมากจากโควิด-19 ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจลดลง ส่งออก ท่องเที่ยวติดลบ แต่มีการหดตัวช้าลงอย่างต่อเนื่อง และปี 2564 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวแต่ไม่สูงมาก เนื่องจากเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จำกัด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยลง คาดว่าทั้งปีจะขยายตัว -7.8 % สำหรับปี 2564 มีแนวโน้มกลับมาเป็นบวก 3.6% ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายประมาณการเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน

สำหรับนโยบายการเงิน ธปท.มีกรอบของนโยบายการเงินเหลือน้อย ต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงิน หากเร่งการเติบโตเศรษฐกิจจะเป็นภาระให้แก่สถาบันการเงินและอาจจะเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ดังนั้น ธปท. ต้องสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับเสถียรภาพระบบการเงินให้ได้ โดยที่ผ่านมา สถาบันการเงินมีการดูแลลูกค้าพอสมควร มีการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนครบกำหนดไปบ้างแล้ว

ที่ผ่านมา สถาบันการเงินได้ทำการพักชำระหนี้และผ่อนเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ระยะหนึ่ง ขณะนี้มีลูกหนี้เริ่มสามารถชำระหนี้ได้ปกติค่อนข้างมาก และคาดว่าหลังจากที่มาตรการจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ลูกหนี้ที่เข้าโครงการสามารถกลับมาชำระหนี้ตามปกติประมาณ 60% ส่วนที่เหลือที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้และยืดหนี้ออกไปน้อยมาก

“กนง. มองภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่มีความไม่แน่นอนสูงและใช้เวลาฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง ดอกเบี้ยนโยบายไม่ใชพระเอกในครั้งนี้ สิ่งที่ กนง. ให้ความสำคัญในระยะต่อไป คือการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งสถาบันการเงินทำเอง กับที่ ธปท. เช่น โครงการ DR BIZ เป็นตัวแทนของการปรับสร้างหนี้หลายราย เร่งการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำซอฟต์โลน ที่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ”

ที่ผ่านมา ลูกหนี้ที่มาชำระได้มากกว่าครึ่งคือ เฉพาะคนที่อยู่ในโปรแกรมการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนคนที่ไม่อยู่ในโปรแกรมคือมาชำระได้อยู่แล้ว คนที่อยู่ในโปรแกรมเป็นรายย่อย เป็น SMEs มีจำนวนเงินน้อย ส่วนลูกหนี้ที่ชำระไม่ได้อาจจะมีปัญหาเล็กน้อยจากสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มนี้จะต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้าง ซึ่ง ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินเพื่อประเมินสถานการณ์และหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น