กรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) บริษัทในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ให้สอดรับต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มุ่งเน้นมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง รักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเตรียมแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ปี 2564-2566 (Medium Term Business Plan 2021-2023) สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการดำเนินธุรกิจโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคาร
กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรุงศรีอยู่ในระหว่างการขออนุมัติแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ที่จะใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2564-2566 ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา โดยจะใช้ประโยชน์ด้านข้อมูลที่กรุงศรีมีในฐานะผู้นำตลาดการเงินเพื่อรายย่อย (Consumer Finance) และผู้นำตลาดลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นในไทย (Japanese Corporate Market) และการใช้ประโยชน์ด้านผลิตภัณฑ์และเครือข่ายระดับโลกของ MUFG การผสานศักยภาพและความแข็งแกร่งอันเป็นเอกลักษณ์ของกรุงศรีโดยคำนึงถึงแนวโน้มแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับโลกหรือเมกะเทรนด์ (Megatrend) และสอดรับกับวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ หรือนิว นอร์มอล (New Normal) ทำให้กรุงศรีมีตำแหน่งทางการตลาดและความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่นทั้งในเวทีระดับประเทศและในภูมิภาคอาเซียน
"ความท้าทายของการทำแผนในครั้งนี้มีความยากเพราะเป็นทำในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เมกะเทรนด์ที่เปลี่ยนไปจากเทรนด์ Gobal มาเป็นเทรนด์ภูมิภาคมากขึ้น มีนิว นอร์มอล และสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน สิ่งที่สำคัญต้องเป็นแผนที่มีควายืดหยุ่น คล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราก็เห็นตัวอย่างมาจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่เราต้องรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างโควิด-19 ขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีต่อเนื่อง รวมถึงการนำเดต้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันเรามีจำนวนลูกค้าที่แอ็กทีฟอยู่กว่า 10 ล้านราย ซึ่งหากสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้ดี ก็จะได้ประโยชน์ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ และการบริหารความเสี่ยง รวมถึงแผนงานในต่างประเทศที่เราจะดำเนินการต่อเนื่องจาก CLMV+ ไปสู่อาเซียนต่อเนื่อง"
สำหรับปี 2563 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบันที่ครอบคลุมการดำเนินงานปี 2561-2563 นั้น กรุงศรีได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการเงินในยุคดิจิทัลด้วยการผลักดันแผนเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ การเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้าผ่านกระบวนการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Customer Experience Enhancement) การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยศักยภาพด้านข้อมูล (Data-Driven Capabilities) กลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership Strategy) และการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Overseas Business Expansion) ซึ่งกรุงศรีสามารถดำเนินตามแผนเชิงยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากความสำเร็จของการเปิดตัว ‘Kept’ นวัตกรรมบริหารเงินบนช่องทางออนไลน์ที่ได้รับการตอบรับอย่างสูงจากกลุ่มเป้าหมาย
รวมถึงการพัฒนา ‘Krungsri Biz Online Mobile App’ แอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจ SME ที่ช่วยจัดการธุรกรรมการเงินให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น บริการกรุงศรี ออโต้ โบรกเกอร์ ที่เลือกสรรประกันภัยรถยนต์ให้แก่ลูกค้าด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลตามความต้องการ การพัฒนาระบบการอนุมัติสินเชื่อโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การลงทุนและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ Grab และความสำเร็จของ Hattha Kaksekar Ltd. บริษัทไมโครไฟแนนซ์เครือกรุงศรีในกัมพูชาในการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ Hattha Bank Plc. เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกและส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบันต่อเศรษฐกิจมหภาคและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกเซกเมนต์ กรุงศรีจึงได้ดำเนินการเชิงรุกฝ่าวิกฤตโดยปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่เน้นย้ำ 3 หลักการดำเนินงานคือ 1.การช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องทั้งลูกค้าบุคคล ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าธุรกิจ ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ 2.การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และ 3.การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับกลยุทธ์ให้สามารถรับมือกับความท้าทายอย่างทันท่วงทีท่ามกลางวิกฤตแห่งความไม่แน่นอนนี้ ส่งผลให้กรุงศรีสามารถลดผลกระทบด้านการดำเนินงานปฏิบัติการ และสามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างทั่วถึง
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หลังจากที่หมดช่วงการพักชำระหนี้แล้วนั้น ประเมินว่าน่าจะเห็นเทรนด์ที่ชัดเจนในปลายเดือนนี้ แต่ ณ ครึ่งแรกของปีเอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ระดับ 2.2% จากที่ตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 2.5% จึงถือได้ว่าอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ จึงไม่ห่วงในเรื่องนี้