xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการ “คนละครึ่ง” กระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนหุ้นกลุ่มค้าปลีกฟื้นครึ่งปีหลังสดใส

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาตรการเยียวยา “คนละครึ่ง” ส่งผล "หุ้นกลุ่มค้าปลีก" อาจได้รับอานิสงส์ทางอ้อมจากกลุ่มร้านค้าโชห่วยที่มาซื้อสินค้าเพื่อไปขายต่อ แม้ Q2 ผลประกอบการหด รับผลมาตรการล็อกดาวน์ เชื่อครึ่งปีหลังฟื้นและต้องใช้เวลาเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ OSP ได้ประโยชน์ในฐานะผู้ผลิตที่มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลาย MAKRO ราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่พุ่งหนุน รวมถึงการหันไปจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น End Consumer หรือซื้อและนำไปใช้เอง ส่วน CPALL และ BJC สดใสขึ้นเพราะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว จากกระตุ้นภาครัฐหนุนการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศฟื้น

จากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการมาเพื่อเยียวยาประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อช่วยค่าใช้จ่าย 50% ให้แก่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 10 ล้านคน ในการดำรงชีพใช้ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สลากกินแบ่ง ยาสูบ และบริการต่างๆ เป็นต้น ในอัตราร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน โดยรัฐบาลจะใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจในโครงการนี้ 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ในวงเงิน 3,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค.63 ซึ่งประชาชนที่ลงทะเบียนสามารถใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ขณะที่ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องลงทะเบียนการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน”

โดยคาดว่า จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาด และผลักดันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ให้เพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 0.18% ขณะเดียวกัน มติคณะรัฐฒตรี (ครม.) ยังได้ขยายโครงการเยียวยาเพิ่มเติมด้วยการอนุมัติวงเงินเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะมีการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้า) อีกในอัตรา 500 บาทต่อคนต่อดือน จำนวน 13.9 ล้านคน ซึ่งจะแบ่งออกเป็นกลุ่มแรกเป็นผู้ที่รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จากเดิมที่ได้อยู่ 300 จะเพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือน และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีรายได้ 30,000-1 แสนบาทต่อปี จากเดิมที่ได้ 200 บาท จะได้เพิ่มเป็น 700 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.63 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีรายได้ลดลงและไม่สามารถหารายได้จากแหล่งอื่นมาทดแทนได้

“นโยบายเยียวยาประชาชนผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งภาครัฐจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน เพื่อจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน 10 ล้านคน และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า และกระตุ้นเม็ดเงินให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท และคาดว่าจะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 0.18% นอกจากนี้ ในส่วนของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้ง 13.9 ล้านคน ก็จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้วยเช่นกันจากการเพิ่มกำลังซื้อ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น รวมทั้งยังก่อให้เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่นผ่านร้านธงฟ้าฯ” นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง มองว่าโครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจจากเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 81,000 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชน 24 ล้านคน ซึ่งจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2563 และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่องไปในปี 2564

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มองว่า โครงการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.25% และเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่คาดว่าจะติดลบน้อยลงกว่า -7.8% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ประเมินไว้ และติดลบน้อยกว่า -8.3% ตามที่ธนาคารโลกได้ประเมินไว้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาประชาชนด้วยการแจกเงินไปแล้วกว่า 248,765 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นแจกเงิน 15,000 บาท จำนวน 15 ล้านคน รวมเป็นเงิน 225,000 ล้านบาท แจกผ่านบัตรคนจน 3,000 บาท จำนวน 1.14 ล้านคน รวมเป็นเงิน 3,420 ล้านบาท แจกกลุ่มเปราะบาง (ผู้พิการและผู้สูงอายุ) 3,000 บาท จำนวน 6.78 ล้านคน รวมเป็นเงิน 20,345 ล้านบาท โดยมาตรการล่าสุดที่กำลังจะแจกรอบใหม่ 3,000 บาท จำนวน 15 ล้านคน รวมเป็นเงิน 45,000 ล้านบาท รวมจำนวนเงินที่ใช้เยียวยาประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 293,765 ล้านบาท

โบรกฯ ชี้พยุง ศก.ระยะสั้น MARKO-OSP-CPALL-BJC รับอานิสงส์ 

วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET มองว่า นโยบายที่รัฐบาลประกาศใช้ดังกล่าวเป็นการกระจายเม็ดเงินให้เข้าสู่ระบบอุปโภคบริโภคการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่คาดว่า ยังไม่ส่งผลเชิงบวกในกลุ่มหุ้นประเภทอุปโภคบริโภคภายในประเทศมากนัก เนื่องจากเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน ซึ่งแม้ว่ามาตรการที่ออกมาจะเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยที่ไม่ใช่นิติบุคคล และร้านธุรกิจแฟรนไชส์ แต่วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสองส่วนที่รวมแล้วสูงถึงราว 5 หมื่นล้านบาท ตลอดทั้งโครงการ จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นและส่งผลบวกทางอ้อมต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ค้าส่งจะได้ประโยชน์จากแรงซื้อของผู้ประกอบการรายย่อยอีกทอด

สุทธาทิพย์ พีรทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ MBKET กล่าวเสริมว่า แนวโน้มยอดขายและกำไรของกลุ่มค้าปลีกจะยังคงค่อนข้างแย่ในระยะถัดไปเนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ทำให้รายได้หายไป แม้ไตรมาสที่ 3 และ 4 จะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว แต่เชื่อว่าการจะฟื้นตัวไปอยู่ที่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งยังคงต้องใช้เวลา โดยเฉพาะสำหรับหุ้น CPALL ทางนักวิเคราะห์ได้ปรับประมาณกำไรปี 2563-2564 ลง 14% และ 12% ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของยอดขายสาขาเดิมช้ากว่าที่คาดไว้ จากการอุปโภคบริโภคและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง โดยไตรมาส 3 ปี 63 ประเมินยอดขายสาขาเดิมลดลง 15% จากติดลบ 20% ขณะที่บริษัทย่อยคือ MAKRO มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากการที่ลูกค้า HORECA กลับมาเปิดดำเนินธุรกิจ ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น และอาจได้ผลบวกจากมาตรการ “คนละครึ่ง” จากกลุ่มร้านค้าโชห่วยซึ่งมาซื้อสินค้าเพื่อไปขายต่อ

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่าจากกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ.ได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบผ่านนโยบายแจกผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งถือได้ว่าเป็นเพียงการช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงสั้นเท่านั้น และไม่ได้เป็นมาตรการที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร และถือเป็นเพียงการกระตุ้นการบริโภค การใช้จ่ายในประเทศที่จะส่งผลดีต่อกลุ่มหุ้นประเภทอุปโภคบริโภค เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC

อย่างไรก็ตาม บริษัทค้าปลีกในตลาดหุ้นส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นว่า ยอดขายสาขาเดิม หรือ SSSG จะยังคงติดลบ แต่น้อยกว่าในไตรมาส 2 ปี 2563 ยกเว้น บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ที่ได้อานิสงส์จากการที่ราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการที่บริษัทฯ หันไปจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น End Consumer (ซื้อและนำไปใช้เอง) มากขึ้น

ขณะเดียวกัน แนวโน้มแฟรนไชน์ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง CPALL และ BJC คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวมากขึ้น แม้ว่าแนวโน้มกำไรสุทธิจะยังติดลบเมื่อเทียบปีก่อน แต่จะติดลบลดลงจากไตรมาส 2 ปี2563 ที่ติดลบราว 20% มาอยู่ที่ราว 10% ส่วนกลุ่มค้าปลีกที่เกี่ยวเนื่องกับการซ่อมแซมบ้านได้รับอานิสงส์จากกระแสทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในช่วงที่คลายล็อกดาวน์ใหม่ๆ

“กลุ่มค้าปลีกอย่าง CPALL และ BJC โดยปกติจะผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจที่สถานการณ์การบริโภคโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งหากมีการปลดล็อกมาตรการท่องเที่ยว และมีการบริโภคที่มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายไปกว่า 9 เดือนในปี 2563 กลับคืนมาก็จะมีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน แต่ในส่วนของมาตรการ “คนละครึ่ง” เชื่อว่าจะไม่ส่งผลประโยชน์ต่อห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น CRC, HMPRO, BJC และ CPALL มากนัก เนื่องจากมีกระแสข่าวต่อต้านการออกมาตรการที่เอื้อนายทุน ดังนั้น โดยภาพรวมคาดว่าผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่ได้ประโยชน์ หรือเพียงได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น”

ส่วน MAKRO ได้ประโยชน์ในฐานะผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคล็อตใหญ่ให้แก่ร้านค้ารายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของมาตรการกระตุ้นการบริโภค คาดจะเข้ามาช่วยเร่งการให้ฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังปี 2563 เร็วขึ้น หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณการผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 อัตราการขยายตัวของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) เดือน ก.ค.-ส.ค.2563 ฟื้นจาก -3.6% ในช่วงไตรมาส 2 ปี2563 มาอยู่ในช่วงราว 2-3% ขณะที่ OSP น่าจะได้ประโยชน์ในฐานะผู้ผลิตที่มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลายและเป็นกลุ่มสินค้าที่เข้าข่ายเป้าหมายของโครงการโดยตรง ทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟสำเร็จรูป และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เข้ามาเป็น upside ช่วยหนุนกำไรช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2563 เพิ่ม

บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBS มองว่า ศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบศ. ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการและโครงการ “คนละครึ่ง” แต่ไม่ให้ใช้ที่ร้านสะดวกซื้อซึ่งมองว่าเป็นลบเล็กน้อยต่อหุ้นค้าปลีกที่เป็นร้านสะดวกซื้อ คือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ซึ่งประเมินว่าบริษัทในตลาดหุ้นจะไม่ได้ประโยชน์โดยตรงจากมาตราการ "คนละครึ่ง" ซึ่งเป็นไปตามคาดหมายก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีกระแสคัดค้านกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ และให้เน้นช่วยเหลือผู้ค้าปลีกรายย่อยมากกว่า ซึ่งทางรัฐได้ออกมาเน้นช่วยรายย่อยซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลลบเชิง Sentiment ต่อหุ้นค้าปลีกที่เป็นร้านสะดวกซื้อ คือ CPALL และ BJC

อย่างไรก็ดี ยังคงแนะนำ ซื้อ CPALL ถือ BJC เนื่องจากมองว่าในครึ่งปีหลังหุ้นค้าปลีกจะยังมีการฟื้นตัวขึ้น เพราะภาวะโควิด-19 คลี่คลายในไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นจุดต่ำสุด การใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวขึ้น คงคำแนะนำ “ซื้อ” CPALL ราคาเป้าหมาย 80.00 บาท อิง PER ที่ 35x (+1SD ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี) และ “ถือ” BJC ราคาเป้าหมาย 33 บาท อิง Core PER ที่ 28x (-1SD ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี)

ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า จากมาตรการดังกล่าวนี้ มีผลครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ร้ายโชห่วย หรือแม่ค้าหาบเร่แผงลอยเท่านั้น จึงน่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2563 และน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ผู้ผลิตสินค้า (Supplier) เกษตรกร รวมถึงการจ้างงานของธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของธุรกิจค้าปลีกได้ในระดับหนึ่ง จากที่ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจเกี่ยวเนื่องต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันทางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซาต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี บวกกับกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังคงอ่อนแรง ต่อเนื่อง จากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังคงระบาดรุนแรงในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี โอกาสในการเพิ่มยอดขายจากมาตรการฯ ดังกล่าว จะมากน้อยแค่ไหนยังต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนร้านค้าปลีกที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงเวลาเปิด-ปิดของร้านค้าปลีก ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ทั้งนี้ จากการสำรวจการใช้จ่ายจากมาตรการ “คนละครึ่ง” ของศูนย์วิจัยฯ ช่วงระหว่างวันที่ 11-18 กันยายน 2563 พบว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่น่าสนใจ ดังนี้คือกว่า 64.0% ของผู้ตอบแบบสำรวจ วางแผนที่จะใช้จ่ายเต็มวงเงิน (3,000 บาท) และที่เหลืออีก 36.0% วางแผนที่จะใช้จ่ายบางส่วนหรือไม่ถึง 3,000 บาท โดย สินค้าที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ ยาสีฟัน) อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 

ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่ม พบว่าส่วนใหญ่กว่า 56.0% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ยังคงใช้จ่ายใกล้เคียงหรือไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ เนื่องจากมีแผนที่จะใช้จ่ายอยู่แล้วในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ ผลจากมาตรการฯ ถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้บริโภคได้ ทำให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือไปใช้ในการทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือเก็บออมไว้ใช้จ่ายยามจำเป็นได้ ขณะที่ผู้บริโภคอีก 44.0% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่าวางแผนจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่มีมาตรการฯ โดยอาจวางแผนเลื่อนวันในการซื้อสินค้าให้ตรงกับช่วงที่ออกมาตรการฯ

ค้าปลีก Q4 ฟื้นตัวดีกว่าคาด 

อย่างไรก็ดี ผลจากมาตรการ “คนละครึ่ง” น่าจะช่วยหนุนค้าปลีกในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 ให้หดตัวลดลงเล็กน้อยเป็น 7.2% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวถึง 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดังกล่าวจะกระจายไปยังร้านค้าปลีกที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional trade) เช่น ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก โชห่วย ร้านธงฟ้า ซึ่งร้านค้าเหล่านี้นอกจากการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว อาจจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของสต๊อกสินค้า ความสดใหม่และคุณภาพของสินค้า รวมถึงอาจจะอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ แรงส่งจากมาตรการฯ ดังกล่าวน่าจะทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกทั้งปี 2563 หดตัวประมาณ 6.0% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น