xs
xsm
sm
md
lg

"ลวรณ" เผยประชุมคลังเอเปก ครั้งที่ 27 คาดเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช่วงปลายปี 2564

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกกระทรวงการคลัง เผยประชุมร่วมกระทรวงการคลังเอเปก คาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการนำมาใช้ โดย IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2564 และกลุ่มธนาคารโลกคาดการณ์ตัวเลขคนยากจนมาก (Extreme Poverty) จะเพิ่มจาก 100 ล้านคนในปี 2563 เป็น 150 ล้านคน ในปี 2564


นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า น.ส.เกตสุดา สุประดิษฐ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก (APEC Virtual Finance Ministers’ Meeting : APEC VFMM) ครั้งที่ 27 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ณ สศค. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหพันธรัฐมาเลเซีย (นาย Tengku Zafrul Tengku Abdul Aziz) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ซึ่งแนวคิดหลักของการประชุมเอเปกประจำปี 2563 คือ การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพมนุษย์เพื่ออนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่านการกำหนดความสำคัญ การจัดลำดับความสำคัญ และความก้าวหน้า (Optimizing Human Potential towards a Resilient Future of Shared Prosperity : Pivot. Priorities. Progress.) โดยมีการหารือที่สำคัญ ดังนี้

1.การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศ ระบบห่วงโซ่อุปทาน ความผันผวนของตลาดการเงิน ฐานะทางการคลัง และปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises : MSMEs) และจากการที่สมาชิกเอเปกดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 ความโปร่งใสและความยั่งยืนทางการคลังเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจาก COVID-19 ที่ได้ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับแต่ปี 2473 (ค.ศ.1930) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการนำมาใช้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2564 และกลุ่มธนาคารโลกคาดการณ์ตัวเลขคนยากจนมาก (Extreme Poverty) จะเพิ่มจาก 100 ล้านคนในปี 2563 เป็น 150 ล้านคน ในปี 2564

2.การประชุม APEC VFMM ในครั้งนี้สมาชิกได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือและใช้มาตรการต่างๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 เพื่อที่เขตเศรษฐกิจต่างๆ จะนำไปพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยผู้แทนไทยได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงมาตรการด้านการคลังและการเงินในการรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการให้เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภค การขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับโครงสร้างหนี้ และการออกกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤต COVID-19 ของสมาชิกแสดงให้เห็นว่า ทุกเขตเศรษฐกิจดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยต่างให้ความสำคัญต่อการรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพื่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับไทยที่ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยระดับหนี้สาธารณะของไทยยังคงอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางการคลัง โดยร้อยละ 98 ของแหล่งเงินกู้มาจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ

พร้อมกันนี้ เอเปกยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินการด้านสุขภาพ สาธารณสุข และการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในระบบการเงิน ซึ่งได้มีบทบาทที่สำคัญในช่วงของการระบาดของ COVID-19 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงการควบคุมการระบาดของ COVID-19 เอเปกยังคงมุ่งมั่นต่อการดำเนินการในอนาคต (APEC post-2020 vision) และให้ความสำคัญต่อความร่วมมือในทุกรูปแบบต่อไป จึงกล่าวได้ว่า การประชุมครั้งนี้ทำให้ไทยได้เห็นมุมมองต่อการรับมือ COVID-19 ของสมาชิกเอเปก ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นทิศทางการดำเนินการร่วมกันของสมาชิกเอเปกต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 28 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2564 โดยมีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น