ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ถ้าภาวะตลาดหุ้นเลวร้าย ดัชนีหุ้นมีโอกาสทรุดตัวลงมาแถวระดับ 1,250 จุด แต่ขณะนี้คงต้องปรับมุมมองใหม่แล้ว เพราะข่าวร้ายๆ ยังหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย จนหุ้นอาจดิ่งลงลึกกว่าที่คาดคิดไว้
นับจากขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่หลังวิกฤต “โควิด-19” ที่ระดับ 1,450 จุด ดัชนีหุ้นปรับฐานลงต่อเนื่อง จนลงมา ปิดที่ระดับ 1,265 จุด เมื่อวันอังคารที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา และถือเป็นจุดต่ำสุดใหม่ในรอบนี้
แม้ดัชนีหุ้นจะลดลงเกือบ 200 จุด เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดที่ระดับ 1,450 จุด แต่ตลาดหุ้นไทยก็ยังแพงอยู่ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านย่านเอเชีย โดยมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นหรือค่าพี/อี เรโช กว่า 21 เท่า และแม้จะมีอัตราเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด 3.98% ซึ่งถือว่าสูง
แต่เมื่อแนวโน้มผลประกอบการลดลง บริษัทจดทะเบียนคงไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้เท่าปีก่อน
แนวโน้มตลาดหุ้นระยะสั้นยังอยู่ในช่วงขาลง และไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว เนื่องจากถูกผลกระทบจากปัจจัยลงทั้งจากภายในและภายนอก
การชุมนุมใหญ่ของม็อบเยาวชนสลายตัวไปแล้ว และไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงตามที่กังวล แต่ม็อบยังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยนัดมาทวงข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 24 กันยายนนี้ ขณะที่เศรษฐกิจทรุดหนัก กำลังซื้อไม่มี แนวโน้มคนว่างงานมากขึ้น รัฐมนตรีคลังคนใหม่ยังหาไม่ได้
และ ความเชื่อมั่นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถดถอยลงทุกที
ขณะที่ปัจจัยภายนอกต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การร่วงหล่นของดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างหลายประเทศ จนต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นรอบ 2
หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ เจอแต่ข่าวร้ายกระหน่ำใส่ไม่หยุด ล่าสุด รายงานลับของสหรัฐฯ ระบุว่า 4 ธนาคารพาณิชย์ของไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นธนาคารพาณิชย์อีกระลอก
เพราะกลัวผลกระทบจากปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคาร กังวลในฐานะการดำเนินงานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีปัจจัยลบเข้ามาซ้ำเติม จึงพากันเทขายหุ้นลดความเสี่ยง
ส่วนหุ้น กลุ่มท่องเที่ยว เช่น หุ้นสายการบิน หุ้นโรงแรม แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะอีกนานกว่าจะฟื้น
นักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นมาตลอดทางช่วงขาลง และกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ปีนี้ โดยมียอดซื้อหุ้นสะสมสุทธิจากต้นปีจำนวน 1.94 แสนล้านบาท แต่หุ้นที่ถือติดมือเป็น "ของแพง" เพราะโดยรวมซื้อในราคาต้นทุนสูง
นักลงทุนรายย่อยอาจมองว่า หุ้นลงมาลึกแล้ว ซึมซับรับข่าวร้ายไปหมดแล้ว ไม่น่าจะดิ่งลงจนหลุดระดับ 1,250 จุด และไม่เชื่อว่าจะทรุดลงไปถึงระดับ 1,200 จุด จึงสู้ไม่ถอย ซื้อไม่เลิก เพราะหวังจะเก็งกำไรเมื่อหุ้นดีดตัวกลับ
แต่คำถามคือ ปัจจัยอะไรที่จะกระตุ้นให้หุ้นฟื้น ข่าวดีอะไรที่จะช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนกลับสู่ความคึกคัก เพราะข่าวดีที่รอคอยไม่มี การคิดค้นวัคซีนป้องกัน “โควิด-19” ก็ยังไม่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ถ้าไม่มีปัจจัยบวก ไม่มีข่าวดีสนับสนุน หุ้นจะขึ้นได้อย่างไร
นักลงทุนรายย่อยที่คิดว่า หุ้นลงมาลึกแล้ว เดี๋ยวก็ฟื้น จึงชิงซื้อหุ้นตุนไว้เก็งกำไร คงต้องปรับมุมมองใหม่
เพราะท่ามกลางข่าวร้ายที่ปกคลุมตลาดหุ้นจนมืดมิด ไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว หุ้นจึงมีโอกาสปรับฐานลงต่อไปได้อีก
ทำไมจึงไม่ประหยัดกระสุนไว้ เพื่อรอจังหวะและเวลาซื้อหุ้นในราคาที่ถูกจริงๆ