xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ มองดัชนี SET สิ้นปีอาจฟื้นช้า เหตุการณ์ทางการเมือง-สังคมกดดัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิเคราะห์หลายโบรกฯ มองภาพรวมตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัว จากภาพรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไทย และจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกเริ่มเห็นสัญญาณลดลง ขณะที่ปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศและประเด็นทางสังคมต่างๆ กลับซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยถดถอย ขณะการชุมนุมทางการเมืองกดดันดัชนีหุ้นไทย สวนทางตลาดหุ้นทั่วโลก มองสิ้นปีนี้ดัชนีอาจไปได้แค่ 1,450 จุด

เดือน ก.ย.หุ้นไทยทยอยฟื้นตัว

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP กล่าวถึงแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะทยอยปรับฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแรงกดดันจากโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย และจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกเริ่มเห็นสัญญาณลดลง ขณะเดียวกัน ในส่วนของความคืบหน้าในด้านการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคก็เริ่มเห็นความชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง (Risk Asset) มากขึ้น แต่จากการที่นักลงทุนต่างชาติชะลอการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย และยังมีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยต่ำเพียง 26% ทำให้แรงกดดันจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติผ่อนคลายลง

ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจไทยคาดว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 2 และคงจะไม่เห็นการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จากหน่วยงานต่างๆ เพิ่มเติมหลังจากลดลงมาเหลือหดตัว 7-8% จากต้นปีที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 10% ขณะเดียวกัน การออกมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของภาครัฐ ซึ่งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น แม้ว่าอาจจะมีผลกระทบในเรื่องของกำลังซื้อในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่ และนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นแรงกดดันต่อผู้ประกอบการภาคธุรกิจอยู่บ้างก็ตาม

ขณะที่ปัจจัยกดดันจากสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากสหรัฐฯ จะแบน TikTok และ Wechat เริ่มผ่อนคลายลงบ้าง หลังจากเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้าออกมาชัดเจน และตลาดรับทราบข่าวไปค่อนข้างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้แรงกดดันต่อกรณีดังกล่าวเบาบาง และ ตลาดหุ้นทั่วโลกคาดว่ายังได้รับปัจจัยหนุนจากการดำเนินมาตรการนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ทำให้มีสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น

“ความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศซึ่งมีแรงกดดันที่นักลงทุนต้องระมัดระวัง มาจากการจัดชุมนุมกดดันรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการจัดชุมนุมของกลุ่มเยาวชน ประเด็นทางสังคมต่างๆ และรอยร้าวระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหากเกิดข้อพิพาททางการเมืองบานปลายมากขึ้นก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาถดถอยกลายเป็นผีซ้ำด้ำพลอย ซ้ำเติมปัจจัยที่ได้รับผลกระทบมาจากโควิด-19 ซึ่งปัจจัยการเมืองในประเทศถือเป็นปัจจัยที่มีความอ่อนไหวส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความมั่นใจในการลงทุนตลาดหุ้นอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ASP ยังมอง SET Index สิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,450 จุด โดยมองว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของดัชนีชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 หากการควบคุมโควิด-19 ในประเทศไทยยังทำได้ดีต่อเนื่อง และสามารถเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจากบางประเทศเข้ามาท่องเที่ยวได้ พร้อมกับความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ที่จะเข้ามาช่วยหนุน และการเยียวยากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเนื่อง

สำหรับกลุ่มหุ้นที่แนะนำให้ลงทุนยังเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจอาหารทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น CPF และ TFG เพราะการบริโภคอาหารเนื้อสัตว์ยังมีการเติบโตต่อเนื่องหลังจากคลายล็อกดาวน์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น STGT ที่ได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกยังสูงมาก ส่วน กลุ่มที่ต้องระมัดระวัง คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ยังไม่เห็นความชัดเจนของแนวโน้ม NPL เพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการการพักชำระหนี้ 

กำไร บจ.หด ถ่วงหุ้นไทยฟื้น 

อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด  เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นโลกเดือน ส.ค. ฟื้นตัวกลับเท่ากับช่วงก่อนระบาดโควิด-19 โดยดัชนี MSCI World Index ซึ่งเป็นตัวแทนดัชนีหุ้นโลกปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนมีโควิด-19 ไปแล้ว 4% ขณะที่หุ้นไทยยังคงย่ำอยู่กับที่ และมีทิศทางที่แย่กว่าตลาดหุ้นโลก (Underperform) ซึ่งเป็นไปตามที่ บล.ทิสโก้ เคยประเมินไว้ โดยดัชนีหุ้นไทยปีนี้ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนระบาดโควิด-19 คือ ยังติดลบอยู่ 17% ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างของหุ้นไทยที่มีน้ำหนักหุ้นกลุ่มพลังงานมากเป็นอันดับหนึ่งที่ 22%

“ช่วงที่ผ่านมา หุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลกอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเนื่องจากกลุ่มพลังงานซึ่งมีความอ่อนไหวสูงต่อทิศทางราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจมีน้ำหนักต่อการคำนวณดัชนีหุ้นไทยค่อนข้างมาก แถมกว่า 70% ของเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงกับภาคต่างประเทศ จึงทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่หุ้นโลก (MSCI World Index) นั้น พบว่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศมีน้ำหนักต่อดัชนีมากเป็นอันดับหนึ่ง ที่ 21% ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบน้อยมากจากโควิด-19 และกำลังเติบโตตามเทรนด์หลักของโลก”

นอกจากนี้ แนวโน้มการหั่นประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยที่ยังไม่จบจะกดดันระดับการประเมินมูลค่าหุ้นไทยให้ยิ่งแพงขึ้น จากการตรวจสอบประมาณการกำไรของตลาดในปีนี้และปีหน้ายังคงถูกหั่นลงอยู่ โดยเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยถูกหั่นลง นับเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยอัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Fwd.PER) ของตลาดหุ้นไทยปีนี้ และปี 64 อยู่ในระดับสูงที่ 22.2 เท่า และ 17.1 เท่า ตามลำดับ ถือว่าแพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 15-16 เท่า ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดหุ้นไทยไม่แกว่งไปไหน มากกว่า 3 เดือนแล้ว ซึ่งแตกต่างจากประมาณการกำไรโดยรวมของตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนา (MSCI DM) กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (MSCI EM) และกลุ่มภูมิภาคเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น (MSCI Asia ex.Japan) ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

สำหรับการชุมนุมทางการเมืองเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะมีน้ำหนักต่อดัชนีหุ้นไทยมากขึ้น และจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะถ่วงตลาดหุ้นไทยให้มีแนวโน้มปรับขึ้นน้อยกว่าหุ้นโลก (Underperform) โดยจากการเก็บสถิติพบว่า ช่วงที่มีม็อบ 3 ครั้งล่าสุด คือ ม็อบพันธมิตรฯ ม็อบ นปช. และม็อบ กปปส. ดัชนีหุ้นไทยมักจะปรับตัวลงเฉลี่ยลบเกือบ 3% ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นโลก ที่ในช่วงเวลาเดียวกันจะปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 2% นอกจากนี้ ยังพบว่าผลตอบแทนของหุ้นไทยจะผันแปรไปตามระยะเวลาที่มีม็อบ โดยยิ่งมีม็อบนาน ยิ่งกดดันตลาดมาก

ทั้งนี้ หลังจากที่หุ้นไทยแกว่งตัวไม่ไปไหนร่วม 3 เดือน และมูลค่าซื้อขายแผ่วลงต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าจะเห็นการหมุนกลุ่มหุ้นลงทุนไปเรื่อยๆ (Sector Rotation) โดยมองว่าหลังจากนี้นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาส 2/2563 ที่เป็นจุดต่ำสุด แต่ราคาหุ้นยังขยับตัวขึ้นช้าอยู่ (Laggards) ผสานกับความหวังเกี่ยวกับพัฒนาวัคซีนที่คาดจะช่วยกระตุ้นราคาหุ้นเหล่านี้เป็นระยะ โดยในเดือน ก.ย. มีปัจจัยติดตามที่สำคัญคือ การสิ้นสุดมาตรการควบคุมความผันผวนของตลาดในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ทั้งการปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor จากเดิมบวกลบ 30% เป็นบวกลบ 15% และการปรับเกณฑ์ Short Sales เป็น “Uptick Rule” จะทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นหลังที่คาดว่าจะทำให้ปริมาณ Short Sales กลับมาทยอยเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติที่ 5% ของมูลค่าการซื้อขายของตลาดโดยรวม และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

สำหรับหุ้นเด่นที่แนะนำในเดือน ก.ย. คือ AEONTS, BEM, BGC, CENTEL, CRC และ TU ด้านแนวรับสำคัญของหุ้นไทยในเดือน ก.ย. มองอยู่ที่ 1,310-1,290 จุด และมีแนวรับถัดไปที่ 1,270-1,280 และ 1,250 จุดตามลำดับ ส่วนแนวต้านสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,340-1,350 จุด และมีแนวต้านถัดไปที่ 1,380-1,390 จุด ตามลำดับ

จับตา 5 สถานการณ์ต่างประเทศ กระทบตลาดหุ้นไทย 

ภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์ กสิกรไทย กล่าวถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4/2563 ว่า ประมาณการว่ากำไรตลาดรวมกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปี 2562 (ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19) อาจต้องรอไปถึงปี 2565 เมื่อนักท่องเที่ยวขาเข้าฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำที่ 8 ล้านคนในปี 2563 เป็น 24 ล้านคนในปี 2564 และ 36 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งหากจะมีการอนุมัติใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ภายในไตรมาส 4/2563 โดยไทยจะได้รับวัคซีนล็อตแรกกลางปี 2564 และเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านมาตรการกักตัวเฝ้าระวังเชื้อได้ในปี 2564

ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรทั้งปี 2563 ของตลาดหุ้นไทยจะลดลง 39% ก่อนฟื้นตัว +42% เทียบปีก่อน และเพิ่มขึ้น 18% ในปี 2564 และ 2565 ดังนี้ คาดว่าทิศทางกำไรตลาดรวมที่ปรับตัวสูงขึ้นจะช่วยผลักดันตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2564 โดยมองว่าหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก คือกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มขนส่ง กลุ่มโรงภาพยนตร์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มการเงิน กลุ่มอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มอสังหาฯ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มการแพทย์ จะปรับตัวขึ้นเด่นกว่า SET Index เนื่องจากราคาหุ้นยัง laggard SET Index ค่อนข้างมากในปี 2563

ขณะที่กำไรของกลุ่มนี้จะฟื้นตัวเด่นในปี 2564-65 โดยปัจจัยสนับสนุนที่จะเป็นตัวผลักดันตลาดหุ้นไทยในปี 2564 คือสภาพคล่องในระบบที่ยังสูงอยู่จากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลกที่คาดว่าจะผ่อนคลายต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนกระทั่งสิ้นสุดปี 2565 ขณะไทยเองคาดว่า ธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ต่อปีไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2564 อีกทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง โดยปัจจุบันรัฐบาลยังมีวงเงินคงเหลือกว่า 7.5 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และการทำงบประมาณขาดดุล 469,000 ล้านบาทในปี 2563 และ 623,000 ล้านบาทในปี 2564 และสุดท้าย ระดับ Valuation ของหุ้นไทยที่ยังไม่ได้แพงมาก

ส่วนปัจจัยลบที่อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวช้ากว่าคาดในปี 2564 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกช้ากว่าคาด จากการทำสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งปัจจัยเรื่องการเมืองในประเทศ แม้มองว่าเป็นความเสี่ยงที่คงอยู่กับประเทศไทยมาตลอด แต่ก็อาจกระทบเสถียรภาพของรัฐบาล หรือทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับลงไปซื้อขายที่ discount ที่ -1 SD ของ Forward P/E ที่ 12 เท่า เหมือนช่วงที่มีการชุมนุมปลายปี 2556 ถึงรัฐประหารกลางปี 2557 และธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการลด หรือถอนสภาพคล่องออกจากระบบ เร็วกว่าคาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลก รวมถึงของไทยปรับตัวขึ้น ทำให้ตลาดอาจมีการขายทำกำไรหุ้นออกมาจาก Earnings Yield Gap ระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดตราสารหนี้ที่ลดลง ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสแกว่งตัวอิงทางลงมากกว่าในเดือนนี้

ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลง

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนกันยายนว่า ดัชนีมีโอกาสที่จะปรับตัว Sideways ถึง Sideways down หลังนักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยประมาณการ EPS ปี 2021 ณ ตอนนี้อยู่เพียง 76.7 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ หากอิงกับ PE Model ของทรีนีตี้ซึ่งมีกรอบบนของ Forward PE อยู่ที่ 16.8 เท่า จะได้ว่าระดับดัชนี SET ที่เหมาะสมในกรณีดีสุดจะอยู่เพียงแค่ 1,290 จุดเท่านั้น ซึ่งหากเทียบเคียงกับดัชนีปัจจุบัน จะเห็นว่ามี Downside risk อยู่ จึงประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสแกว่งตัวอิงทางลงมากกว่าในเดือนนี้

“การลงทุนในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ไม่ใช่จังหวะการลงทุนที่ปลอดภัยมากนัก เพราะ Earning Yield Gap ของ SET ทำจุดต่ำสุดครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเทียบเคียงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยหรือสหรัฐฯ เองก็ตาม ซึ่งทำให้ช่วงถัดไปอาจเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ทั้งไทยและเทศมากขึ้น” 

อย่างไรก็ดี การลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโตต่ำ หรือบางประเทศถึงขั้นติดลบส่งผลให้นักลงทุนแสวงการลงทุนในหุ้น Growth stock หรือหุ้นเติบโต โดยนักลงทุนยอมที่จะจ่ายค่าพรีเมียมให้แก่หุ้นเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าหุ้นเติบโตซึ่งในกรณีของไทยมักเป็นหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กจึงเป็นธีมการลงทุนหลักในตลาดโลก ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้น Value stock หรือหุ้นที่มีมูลค่าถูกในช่วงนี้ ทั้งนี้คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัวอย่างแท้จริง

“ตอนนี้หุ้นไทยไม่ได้อยู่ในสายตานักลงทุนต่างประเทศเลยเพราะหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 ถูกปรับลดประมาณการ EPS ลงมาต่อเนื่อง แถมปีหน้าจะโตเพียง 20% เท่านั้น แต่ทว่าในทางกลับกัน หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในดัชนี sSET กลับได้รับการปรับประมาณการเพิ่มจากนักวิเคราะห์ในตลาด จนทำให้ Forward PE ปัจจุบันของหุ้นกลุ่มนี้อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและถูกว่า Forward PE ของหุ้นขนาดใหญ่อีกด้วย”

สำหรับการลงทุนในเดือนกันยายน แนะนำนักลงทุนรอจังหวะที่ดัชนีย่อตัวลงมาที่บริเวณแนวรับในการเข้าสะสมหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีธีมการลงทุนน่าสนใจ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ธีมคือ กลุ่มบริหารหนี้ที่ได้ประโยชน์จากหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แนะนำ JMT และ CHAYO กลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบราคาถูก และอิงกับสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งได้รับผลกระทบน้อย หากเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว แนะนำ SFLEX, PTL, BGC, UTP กลุ่มปั๊มน้ำมัน ซึ่งได้ประโยชน์จากค่าการตลาดที่ทรงตัวในระดับสูง และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ แนะนำ PTG กลุ่มถุงมือยาง ที่มียอดการส่งออกแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าหาจังหวะการเข้าซื้อได้ในช่วงที่มีข่าวดีเรื่องวัคซีนต้าน COVID-19 ออกมา แนะนำ STGT และหุ้นอื่นๆ ที่มี Earnings momentum เชิงบวก ในช่วงครึ่งปีหลัง เช่น ILINK, PRM, TKN, TPCH เป็นต้น

อีกทั้งปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือตัวเลขภาคการผลิตทั่วโลก หากตัวเลขดีอาจเป็น Sentiment เชิงบวกกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกัน ในส่วนของการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนนั้น นักลงทุนควรกระจายการลงทุนไปลงทุนในทองคำ 10% ของพอร์ตการลงทุนรวม แต่เมื่อทองคำปรับตัวทะลุระดับ 2,000 เหรียญฯต่อออนซ์ จึงแนะนำให้ลดน้ำหนักลงมาเหลือ 5% ล่าสุด หลังราคาหลุดต่ำกว่า 2,000 เหรียญฯ ต่อออนซ์อีกครั้ง จึงแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักอีกครั้งหนึ่งมาอยู่ที่ 5-10% ของพอร์ต โดยการลงทุนในทองคำยังคงมีความน่าสนใจจากแนวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมถึงมีการปล่อยให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มทะลุระดับ 2% ได้ในบางช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริงอยู่ในระดับติดลบ

อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด

 เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

ภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์ กสิกรไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น