xs
xsm
sm
md
lg

"ชริ้งเฟล็กซ์" คาดเสนอขาย IPO และเข้าเทรด mai ภายใน Q4/63

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายคมกฤต มีคำสัตย์
"ชริ้งเฟล็กซ์" คาดเสนอขาย IPO และเข้าเทรด mai ภายใน Q4/63 เตรียมเดินสายโรดโชว์ ทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อยในประเทศต่อไปในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งมีนักลงทุนสถาบัน 6 ราย ที่ตอบรับเข้ามาฟังการนำเสนอข้อมูลของบริษัท

นายคมกฤต มีคำสัตย์ กรรมการผู้จัดการ สายงานตลาดทุน บล.อาร์ เอช บี (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ SFT กล่าวว่า หลังจาก บมจ.ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย) ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน (IPO) ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเสนอขาย IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ภายในไตรมาส 4/63

หลังจากนี้ บริษัทจะเตรียมเดินสายให้ข้อมูลแก่นักลงทุน (โรดโชว์) ทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อยในประเทศต่อไปในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งมีนักลงทุนสถาบัน 6 ราย ที่ตอบรับเข้ามาฟังการนำเสนอข้อมูลของบริษัท ในส่วนของทางด้านบริษัทหลักทรัพย์ที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรในการรับประกันการจัดจำหน่าย IPO ของบริษัทในครั้งนี้ได้มีการให้ข้อมูลเพื่อทำบทวิเคราะห์ออกมาแล้ว

โดยความน่าสนใจของ SFT อยู่ที่ลักษณะของธุรกิจผลิตฉลากบรรจุภัณฑ์ที่มีกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รู้จักอยู่แล้วมาใช้บริการสั่งซื้อฉลากสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มรวมกันในสัดส่วน 80% ซึ่งมีความต้องการใช้ฉลากสินค้ามากและมีการสั่งผลิตตต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง รวมไปถึงมีการต่อยอดไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้ฉลากสินค้าที่พรีเมียมขึ้นอย่างกลุ่มลูกค้าเครื่องสำอาง ซึ่งมีความต้องการใช้การพิมพ์ฉลากแบบดิจิทัล ซึ่งมีราคาที่สูง และให้มาร์จิ้นที่ดี ทำให้บริษัทมีการกระจายกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย

ขณะเดียวกัน SFT ยังเป็นบริษัทที่มีคุณภาพ มีทีมงานและผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญ และการระดมทุนในครั้งนี้จะนำเงินส่วนใหญ่ไปใช้ขยายธุรกิจในการสร้างโรงงานแห่งใหม่ห่างจากโรงงานเดิม 7-8 กิโลเมตร เพื่อรองรับความต้องการใช้ฉลากสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต หลังจากที่สถานการ์ณโควิด-19 สามารถคลี่คลายลงได้ชัดเจนแล้ว และเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ไลน์การผลิตใหม่หลังจากโรงงานเดิมใช้กำลังการผลิตใกล้เต็มแล้ว โดยที่โรงงานผลิตแห่งใหม่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 30-40% จากโรงงงานเดิม หรือมีกำลังการผลิตรวมกับโรงงานเดิมเพิ่มเป็น 185 ล้านเมตร/ปี ในช่วงปีแรกที่เปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถรองรับความต้องการใช้ในอนาคตได้เพียงพอ และเป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทสามารถเติบโตได้ในอนาคต

ปัจจุบัน SFX มีทุนจดทะเบียนจำนวน 220 ล้านบาท แบ่งเป็น 440 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 160 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 120 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ โดยจะนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 พร้อมกับลงทุนในเครื่องจักร รองรับการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ๆ เพื่อผลักดันการเติบโตในอนาคต ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระเงินกู้สถาบันการเงินและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป

นายซุง ชง ทอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SFT เปิดเผยว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการ Labeling Solutions แบบครบวงจร ด้วยผลิตภัณฑ์ฉลากฟิล์มหดรัดรูปในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยจุดแข็งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูปมานานกว่า 12 ปี เข้าไปช่วยตอบโจทย์ทางการตลาดในการสร้างภาพลักษณ์แก่แบรนด์สินค้า (Brand Identity) ผ่านการให้บริการที่ครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ การเลือกรูปทรงบรรจุภัณฑ์และการออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์ รวมถึงให้คำปรึกษาด้านเทคนิคการหดตัวของฉลากฟิล์ม (ชริ้ง) เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ความงาม และของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

บริษัทมีความพร้อมด้านการพิมพ์ฉลากฟิล์มหดรัดรูปด้วยรูปแบบการพิมพ์แบบกราเวียร์ ซึ่งเป็นระบบการพิมพ์ที่ต้องใช้แม่พิมพ์ มีคุณภาพความละเอียดสูง รวดเร็วและประหยัดเวลา รองรับความต้องการลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ต้องการฉลากฟิล์มหดรัดรูปเป็นจำนวนมาก และระบบการพิมพ์แบบดิจิทัลซึ่งเป็นระบบการพิมพ์ที่ไม่ต้องใช้แม่พิมพ์ แต่จะใช้เทคนิคการสร้างภาพด้วยระบบเลเซอร์ รองรับความต้องการกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีปริมาณงานพิมพ์จำนวนไม่มาก และต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฉลากที่รวดเร็ว (Made to order) ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทั้งในเชิงคุณภาพ ปริมาณและความรวดเร็ว โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีฐานลูกค้าหลักรายใหญ่ ริษัาท โออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด, บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป, บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังให้บริการรับออกแบบและผลิตแม่พิมพ์เพื่อใช้ในการผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูป และมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ฟิล์มยืดเพื่อใช้ในการห่อรัดสินค้าบนพาเลทเพื่อลำเลียงขนส่ง และจำหน่ายให้แก่ลูกค้าของบริษัท ที่ช่วยให้ SFT สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดจากการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรอีกด้วย และบริษัทยังมีเป้าหมายก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการ Labeling Solutions แบบครบวงจร ด้วยผลิตภัณฑ์ฉลากฟิล์มหดรัดรูปในภูมิภาคอาเซียน ที่มุ่งตอบสนองความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตฟิล์มหดรัดรูปในกลุ่มฟิล์มใสที่มีความหดตัวสูง (POF Shrink Film) และเพิ่มไลน์การผลิตใหม่ๆ ไปสู่กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) รวมถึงบริหารจัดการกำลังการผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูป เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าที่ใช้ฉลากฟิล์มหดรัดรูปทั้งด้านปริมาณและความรวดเร็ว

นางรสสุคนธ์ ศานติกุลวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน SFT กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 บริษัทสามารถทำรายได้รวม 330.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.05% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีรายได้รวม 294.95 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน 49.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อนที่ทำได้ 43.40 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยความสำเร็จมาจากกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่คิดเป็น 80% ของฐานลูกค้าทั้งหมด มียอดสั่งผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูปเพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการสินค้าที่สูงขึ้น ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดการประหยัดต่อหน่วย ส่งผลให้กำไรขั้นต้นอยู่ในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตได้ตามแผน


กำลังโหลดความคิดเห็น