การฟื้นตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกจับตามาตลอด เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่สวนกับความรู้สึกของนักลงทุน เนื่องจากสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก จนเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก แต่ตลาดหุ้นกลับพุ่งทะยาน
ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ปิดเมื่อวันพุธที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา พุ่งขึ้นมายืนที่ระดับ 29,100 จุด เหลืออีกเพียง 200 จุดเศษ จะสร้างจุดสูงสุดใหม่ ทำลายจุดสูงสุดเดิมก่อนเกิดวิกฤต “โควิด-19” ที่ระดับ 29,300 จุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 และดัชนีแนสแด็ค สร้างจุดสูงสุดใหม่มาต่อเนื่อง
แต่ หลังจากวันที่ 3 กันยายน ดัชนีฯดาวโจนส์ก็ร่วงแรง 3 วันติดต่อ โดยวันที่ 4 กันยายน ลงไป 807 จุด วันที่ 5 กันยายนลงไปอีก 159 จุด และวันที่ 8 กันยายนทรุดอีก 632 จุด รวม 3 วันลงไป 1,498 จุด โดยปิดที่ 27,500 จุด ซึ่งดัชนีเอสแอนด์พีฯ และแนสแด็คปักหัวลงในทิศทางเดียวกัน
สาเหตุของการปรับฐานลงครั้งใหญ่ เกิดจาก การเทขายทำกำไร ซ้ำเติมด้วยสงครามการค้าที่ปะทุรอบใหม่ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน พร้อมขู่จะใช้มาตรการลงโทษบริษัทสหรัฐฯ ที่ไปสร้างงานในต่างประเทศ และจะกีดกันบริษัทสหรัฐฯ ที่เข้าปลงทุนในจีน ไม่ให้ได้รับสัญญาทางธุรกิจกับรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วนจีนประกาศแผนตอบโต้ทันที
ดัชนีฯ ดาวโจนส์ถือเป็นธงนำของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งมักจะเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ
และการที่ดัชนีหุ้นทรุดลงต่ำกว่า 1,300 จุดก็เกิดจากผลกระทบการร่วงของดาวโจนส์
นักลงทุนกำลังกังวลว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกหรือไม่ เพราะการฟื้นตัวของดาวโจนส์จากระดับต่ำสุดที่ 18,000 จุด ช่วง "โควิด-19" ระบาดหนัก จนขยับขึ้นมายืนที่ 29,100 จุด เป็นการฟื้นตัวที่สวนกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19”
ถ้าฟองสบู่หุ้นสหรัฐฯ แตก จะเป็นข่าวร้ายชิ้นใหญ่ของตลาดหุ้นทั้งโลก และตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีปัญหาภายในมากมายอยู่แล้ว คงดิ่งลงเหวลึกอีกครั้ง จนไม่อาจหยั่งได้ว่า รอบนี้ดัชนีหุ้นจะทรุดหนักขนาดไหน
ความจริงตลาดหุ้นไทยไม่ได้ฟื้นตัวตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ เสียทีเดียว เนื่องจากถูกกดดันด้วยปัจจัยภายใน ทั้งความหวั่นไหวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดรอบสอง ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนัก และยังมีสถานการณ์การเมืองที่ต้องเฝ้าจับตา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชนปลดแอก ซึ่งนัดชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์วันที่ 19 กันยายนนี้
ข่าวร้ายๆ ภายในประเทศทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงจากระดับ 1,450 จุด และหลุดลงจากแนวรับสำคัญ 1,300 จุดเป็นที่เรียบร้อย โดยแนวโน้มระยะสั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ยังมีโอกาสปรับฐานลงต่อ และไม่เห็นสัญญาณการดีดตัวกลับ
เนื่องจากไม่มีข่าวดีกระตุ้น มีแต่ข่าวร้ายที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งภาวะฟองสบู่แตกของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนที่ปะทุรอบใหม่ และสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ร้อนระอุใกล้ถึงจุดแตกหัก
ตลาดหุ้นระยะสั้นยังมีความเสี่ยง นักลงทุนบางส่วนจึงเลือกที่จะเฝ้ารอคอยประเมินสถานการณ์อยู่ห่างๆ จนกว่าปัจจัยลบข่าวร้ายจะจางลง