ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เผยอาจพิจารณายกเลิกมาตรการดูแลการซื้อขายหุ้น รับมือตลาดผันผวนที่จะครบอายุวันที่ 30 กันยายนนี้ ขณะที่ภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนสิงหาคมปรับลดลง 1.3% จากเดือนก่อน จากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 และการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ พร้อมแนะนักลงทุนติดตามข่าวสารใกล้ชิดโดยเฉพาะปัจจัยภายนอกประเทศ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีความผันผวนลดลง โดยขณะนี้ค่าความผันผวนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20-30% ลดลงจากช่วงที่ตลาดผันผวนรุนแรงในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ค่าความผันผวนพุ่งสูงถึง 200% จากช่วงภาวะปกติหรือช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ค่าความผันผวนอยู่ที่ 15% ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประเมินสถานการณ์ภาวะตลาดในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้อีกครั้ง หากค่าความผันผวนอยู่ที่ระดับ 20-30% และตลาดไม่ได้ผันผวนรุนแรง ก็จะมีการยกเลิกมาตรการดูแลการซื้อขายหุ้น รับมือตลาดผันผวน ซึ่งประกอบด้วยเกณฑ์การกำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) ได้ไม่เกิน 15% จากเดิม 30% และเกณฑ์การหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติ (Circuit Breaker) เป็นการชั่วคราว โดยระดับที่ 1 หากดัชนีปรับตัวลดลง 8% จะหยุดการซื้อขาย 30 นาที จากเดิม 10% และเกณฑ์การขายหุ้นโดยไม่มีในมือ (ชอร์ตเซล) เป็นการชั่วคราว ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะครบกำหนดการต่ออายุในวันที่ 30 กันยายน 2563 แต่หากตลาดยังอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อความผันผวนสูง ก็อาจพิจารณาต่ออายุมาตรการต่อไปอีก รวมทั้งยังมีเครื่องมืออื่นที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุญาตให้ ตลท. สามารถนำมาใช้ดูแลภาวะตลาดได้ทันทีหากตลาดเข้าสู่ภาวะผันผวนรุนแรง
“การยกเลิกมาตรการดูแลการซื้อขายหุ้น และรับมือตลาดผันผวนดังกล่าวจะไม่ทำให้ตลาดเกิดความผันผวน เพราะปัจจัยหลักที่กระทบตลาดคือปัจจัยที่เกิดขึ้นภายนอก พร้อมแนะให้นักลงทุนติดตามสถานการณ์และข่าวสารที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างใกล้ชิด” นายภากร กล่าว
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,310.66 จุด ปรับลดลง 1.3% จากเดือนก่อน โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุน ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกสอง รวมถึงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศ ทำให้ SET Index ปรับลดลง 17.0% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 19.9% จากสิ้นปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสิ้นปี พบว่า บางอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET Index และมีกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวก นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคมยังมีสัญญาณการฟื้นตัวของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และในบางกลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่ได้อานิสงส์จากการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่อาจจะนำไปสู่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เร็วขึ้น ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 56,512 ล้านบาท โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 66,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ลงทุนบุคคลในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อยู่ที่ 44.09% ของมูลค่าการซื้อขายรวม